เริ่มต้นขึ้นอีกครั้งกับการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันของโลก (OPEC) ครั้งนี้จะเป็นการประชุมระหว่างประเทศสมาชิกดั้งเดิม 13 ประเทศและสมาชิกที่ไม่ใช่กลุ่มประเทศดั้งเดิมแต่มีศักยภาพในการผลิตน้ำมันหรือที่เรียกว่า “โอเปกพลัส (OPEC+)” ที่นำโดยรัสเซียและอีกสิบประเทศสมาชิก ในทุกๆ เดือนจะมีการประชุมหารือกันระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อวางแนวทางกำหนดทิศทางการผลิตน้ำมันของเดือนถัดไป ในบทความนี้เราจะมาดูกันว่าประเด็นที่ต้องจับตาดูในการประชุมครั้งนี้มีอะไรบ้าง?
ความผันผวนของมาตรวัดน้ำมันหลักของโลก
อ้างอิงจากราคาน้ำมันดิบเบรนท์และ WTI ที่เปิดทำการซื้อขายในวันพุธที่ผ่านมาพบว่าเบรนท์มีราคาซื้อขายอยู่ในกรอบราคาประมาณ $60 ต่อบาร์เรลในขณะที่น้ำมันดิบ WTI มีราคาซื้อขายอยู่ต่ำกว่า $60 ต่อบาร์เรล แต่เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคยทะยานขึ้นไปแตะ $70 ต่อบาร์เรลได้ นอกจากนี้ราคาน้ำมันที่สหรัฐอเมริกาก็มีการปรับตัวขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบัน (วันพุธ) ราคาน้ำมันเบรนท์ปรับตัวลดลงมาจากจุดสูงสุดดังกล่าวแล้ว 8% แม้การที่ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นจะเป็นสัญญาณที่ดี แต่ก็อาจนำไปสู่มติการปรับลดการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC+
เกมการเมืองหลังฉากระหว่างประเทศสมาชิก
ในการประชุมของกลุ่มโอเปกสัปดาห์ที่แล้ว หนึ่งในประเทศสมาชิกได้สั่งให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารทรัพยากรน้ำมันไปจัดการปรับตัวเลขคาดการณ์ความต้องการน้ำมันในไตรมาสที่ 2 ให้มีตัวเลขลดลง แม้จะมีนักวิเคราะห์พยายามหาคำตอบว่า “ประเทศสมาชิก” นั้นเป็นใคร แต่จากที่เราทราบ มีความเป็นไปได้ว่า “ประเทศสมาชิก” ดังกล่าวจะเป็นประเทศซาอุดิอาระเบียที่ต้องการหาเหตุผลในการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันของตนเอง
ก่อนหน้านี้ซาอุดิอาระเบียคือผู้ที่ออกหน้ายอมลดกำลังการผลิตน้ำมันของตัวเองลง 1 ล้านบาร์เรลต่อวันเพื่อให้ประเทศสมาชิกคนอื่นๆ ได้เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน แม้จะมีการถามต่อว่าการชักใยอยู่เบื้องหลังของซาอุดิอาระเบียครั้งนี้ พวกเขาต้องการอะไรกันแน่ แต่เราเชื่อว่าซาอุดิอาระเบียจะเลือกที่จะไม่ตอบคำถามข้อนี้
รัสเซียที่มาในท่าทีใหม่
ในการประชุมของกลุ่มโอเปกพลัสทุกครั้ง ทุกสายตาจะจับจ้องไปที่การงัดข้อกันระหว่างซาอุดิอาระเบียพี่ใหญ่ของกลุ่มโอเปก และรัสเซียพี่ใหญ่ของกลุ่มโอเปกพลัส เรื่องที่ทั้งสองประเทศมักจะทะเลาะกันเป็นประจำก็หนีไม่พ้นโควตาการผลิตน้ำมันระหว่างทั้งสองประเทศ แต่ในการกลุ่มโอเปกพลัสครั้งนี้ รัสเซียมีท่าทีที่แปลกไป รัสเซียไม่ต้องการเพิ่มกำลังการผลิตอย่างรวดเร็วแบบที่ผ่านๆ มา แต่ต้องการให้คงการเพิ่มกำลังการผลิตในระดับปานกลางเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ
รัสเซียให้เหตุผลว่าที่ต้องทำเช่นนี้เพราะต้องการเพิ่มกำลังการผลิตให้ทันความต้องการของประชาชนภายในประเทศ นี่เป็นครั้งที่สองแล้วที่รัสเซียขอให้คงระดับการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเอาไว้ที่ระดับปานกลางเช่นนี้ซึ่งทั้งสองครั้งก็ได้รับความยินยอมจะประเทศสมาชิกเป็นอย่างดี ดังนั้นหากรัสเซียจะยังยืนยันคำเดิมในการประชุมครั้งนี้เชื่อว่าก็คงไม่มีใครคัดค้าน
สุดท้ายแล้ว โอเปกพลัสจะเห็น $70 ต่อบาร์เรลเป็นเป้าหมายที่ต้องการให้ราคาน้ำมันขึ้นไปวิ่งอยู่บริเวณนั้นหรือมองว่าเป็นเพียงความบังเอิญที่ไม่ต้องการให้เกิดขึ้นซ้ำอีกเป็นครั้งที่สอง การตกลงกันหลังฉาก การฑูตหลังม่านจะทำให้ผลการประชุมพลิกล็อคอีกหรือไม่ เราจะได้รู้กันจากผลการประชุมครั้งนี้