ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด (FED) กำลังสับขาหลอกโลกการลงทุนผ่านการตัดสินใจเกี่ยวกับการออกนโยบายการเงินที่สวนทางกับการกระทำ สิ่งที่นักวิเคราะห์คาดการณ์เกี่ยวกับเงินเฟ้อกันนั้นเห็นได้ชัดเลยว่าพวกเขาวิเคราะห์กันไม่ผิด ยิ่งการตัดสินใจล่าสุดของเฟดยิ่งแสดงให้เห็นชัดเลยว่าที่จริงแล้วธนาคารกลางเองก็คงเริ่มหนาวๆ ร้อนๆ กันบ้าง
ที่ผ่านมานักลงทุนในตลาดพยายามส่งเสียงไปหาเฟดอยู่ตลอดว่าผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ขึ้นมาสูงเกินไปแล้ว ถึงเวลาที่เฟดจะส่งสัญญาณผ่อนคันเร่งออกมาจากการช่วยเหลือเศรษฐกิจ แต่ที่ผ่านมาเฟดก็เอาแต่พูดว่า “สามารถควบคุมทุกอย่างได้ และขอเน้นให้การจ้างงานกลับมาเป็นเหมือนเดิมก่อนเป็นอันดับแรก” แล้วอยู่ดีๆ เมื่อวันศุกร์ที่แล้วเฟดก็ตัดสินใจไม่ต่ออายุโครงการเงินช่วยเหลือธนาคารพาณิชย์ในช่วงโควิดแบบไม่ทันตั้งตัว
โดยปกติแล้วถ้าทางธนาคารจะปล่อยกู้มาก ก็ต้องยิ่งสำรองเงินไว้ให้มากขึ้นเพื่อป้องกันความเสี่ยงหนี้เสีย นับตั้งแต่ไวรัสโควิดระบาดหนัก ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ให้สิทธิ์พิเศษกับธนาคารต่างๆ ในประเทศ โดยให้ธนาคารไม่ต้องนำมูลค่าของพันธบัตรและเงินฝากที่ฝากไว้กับเฟดเข้ารวมในการคำนวณ leverage ratio หรือเงินทุนสำรองที่ต้องจัดเก็บ เพื่อเป็นการช่วยหนุนให้ธนาคารปล่อยวงเงินกู้มากขึ้น เป็นการเพิ่มสภาพคล่องในตลาดซึ่งมาตรการดังกล่าวกำลังจะหมดอายุลงในวันที่ 31 มีนาคมนี้
อย่างไรก็ตาม เฟดบอกว่าพวกเขาจะพิจารณาเรื่องอัตราวงเงินนี้เป็นตัวเลขออกมาอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ทิ้งให้ตลาดเกิดคำถามสงสัยว่า “เฟดจะเปลี่ยนวงเงินที่ให้นี้ถาวรไปเลยหรือไม่? ทำไมไม่ตัดสินใจยืดระยะเวลาการให้เงินช่วยเหลือนี้ออกไป?”
ขอบเขตการออกนโยบายของเฟดอยู่ที่ไหน?
นักวิเคราะห์ทั่วไปต่างวิเคราะห์ไปในทำนองคล้ายกันว่าการกระทำของเฟดครั้งนี้ดูไม่มีเหตุผลเลย ทั้งๆ ที่เฟดเองย้ำอยู่ตลอดว่าต้องการให้การจ้างงานกลับมาเต็มกำลังอย่างเร็วที่สุด แต่การไม่ต่ออายุโครงการนี้จะทำให้การฟื้นตัวของตลาดแรงงานต้องล่าช้าออกไป แม้ว่าจะมองในมุมของสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงก็ยิ่งดูไม่สมเหตุสมผลเข้าไปใหญ่ จะมาลงทุนกับสินทรัพย์ที่ได้ผลตอบแทนต่ำอย่างพันธบัตรตอนนี้ทำไม? ไปหาสินทรัพย์ที่จะให้ผลตอบแทนดีกว่านี้ไม่ดีกว่าหรือ
อันที่จริงเหล่าผู้วางนโยนบายในธนาคารกลางก็มีการพูดถึงเป็นอย่างมากต่อการตัดสินใจของเฟดเมื่อวันที่ 16-17 มีนาคมที่ผ่านมา นักวิเคราะห์บางคนถึงกับมองว่าเฟดดูมีอำนาจมากเกินไปและไม่มีใครรู้ขอบเขตของอำนาจนั้น บางทีอาจถึงเวลาที่ต้องมาพูดคุยถึงการจำกัดอำนาจของธนาคารกลางสหรัฐฯ กันแล้ว
นายเชอรอด บราวน์ (Sherrod Brown) ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งโอไฮโอและนางอลิธซาเบต วอร์เรน หนึ่งในขณะกรรมการแห่งรัฐแมสซาชูเซตส์ ให้ความเห็นต่อการกระทำของเฟดว่า
“อันที่จริงเราไม่ต้องไปคิดเพื่อเฟดไปถึง2-3 ปีข้างหน้าหรอก การตัดสินใจของพวกเขาก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในปัจจุบันไม่ต่างจากที่เรามอง มันก็ฟังดูขัดๆ ที่เราเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ไม่ว่าจะเกิดเรื่องอะไรต้องโหวตกันผ่านสภาสูงทุกครั้ง แต่พอเป็นเรื่องการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐฯ กลับสามารถตัดสินใจดำเนินการบางอย่างโดยทันทีได้เลย”
มีข่าวลืออยู่เหมือนกันว่าภายในปีนี้ประธานาธิบดีโจ ไบเดนอาจหาประธานเฟดคนใหม่มาทำหน้าที่แทนเจอโรม พาวเวลล์ ดังนั้นเจอโรมจึงไม่อยากจะดำเนินมาตรการที่เสี่ยงว่าจะต้องโดนด่าภายหลังจากที่เขาหมดอำนาจแล้ว
แม้จะยังไม่มีตัวเต็งอย่างเป็นทางการ แต่เมื่อมองไปรอบๆ แล้วตอนนี้มีนางเลล เบรนาร์ด (Lael Brainard) หนึ่งในคณะผู้ว่าการของเฟดที่มีความเป็นไปได้ นอกจากเธอจะเป็นเดโมแครตเพียงคนเดียวในหมู่คณะกรรมการแล้ว เธอยังมีความสนิทสนมกับอดีตเจ้านายตัวเองที่ปัจจุบันนั่งอยู่บนตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง นางเจเน็ต เยลเลน
อนึ่ง เมื่อวันที่ 16-17 มีนาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ได้เปิดการประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับการวางนโยบายทางการเงิน ผลที่ได้ก็คือธนาคารกลางสหรัฐฯ ตัดสินใจไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินใดๆ เพิ่มเติม ถึงกระนั้นนายเจอโรม พาวเวลล์ประธานธนาคารกลางฯ กล่าวว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินขึ้นอยู่กับสถานการณ์
นายเจอโรม พาวเวลล์ยังคงเน้นย้ำในเรื่องของอัตราเงินเฟ้อว่าต้องขึ้นเกินเป้าหมาย 2% ของธนาคารกลางให้ได้ก่อน นำมาซึ่งคำถามของนักลงทุนว่าอีกไกลแค่ไหนถึงจะใกล้หรือเกินตัวเลขเป้าหมายเงินเฟ้อ 2% แม้แต่การณ์คาดการณ์ของสมาชิกธนาคารกลางบางคน นายเจอโรม พาวเวลล์ยังมองข้าม โดยระบุว่าเป็นการคาดการณ์ส่วนบุคคล ไม่ใช่มติของธนาคารกลางสหรัฐฯ
เมื่อเฟดไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินใดๆ จึงเปิดโอกาสให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีปรับตัวขึ้นต่อจนสามารถขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดของปี 2021 เอาไว้ที่ 1.73%
ในช่วงกลางสัปดาห์นี้นายเจอโรม พาวเวลล์และนางเจเน็ต เยลเลนมีหน้าที่ต้องแถลงการณ์ต่อสภาคองเกรส พวกเขาต้องพูดเรื่องมุมมองที่มีต่อสถานการณ์โควิดและการตัดสินใจทางการเงินที่พึ่งดำเนินการไปเมื่อสัปดาห์ก่อน นอกจากทั้งสองท่านนี้แล้ว ยังมีประธานธนาคารกลางคนอื่นๆ ที่จะขึ้นพูดด้วยเช่นริชาร์ด คลาริดด้า (Richard Clarida) รองประธานเฟด แรนดัล ควาเลส (Randal Quarles) รองประธานผู้วางนโยบายการเงิน เลล เบรนาร์ด และจอห์น วิลเลียม (John Williams) ประธานธนาคารกลางนิวยอร์ก
แม้จะมีความหวังน้อยนิด แต่นักลงทุนก็ยังจะให้ความสนใจถึงท่าทีของประธานเฟดและสมาชิกคนอื่นๆ ว่าพวกเขายังเชื่อมั่นในการปล่อยให้เงินเฟ้อปรับตัวขึ้นเรื่อยๆ แบบนี้อยู่จริงหรือไม่