ถือเป็นสัปดาห์ที่มีเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจให้นักลงทุนต้องเฝ้าดูสถานการณ์อยู่เต็มไปหมดไม่ว่าจะเป็นการประชุมของสามธนาคารกลางใหญ่ การรายงานตัวเลขยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ และแคนาดา การรายงานตัวเลข GDP ไตรมาส 4 ของนิวซีแลนด์และการรายงานตัวเลขการจ้างงานของออสเตรเลีย แต่ข่าวที่ทุกคนจะให้ความสนใจมาเป็นอันดับแรกคือการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือว่าเฟด (FED) ที่จะเกิดในวันนี้และวันพรุ่งนี้
นักลงทุนมีคำถามมากมายที่อยากจะถามธนาคารกลางสหรัฐฯ ครั้งสุดท้ายที่เฟดอัปเดตตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจคือเดือนธันวาคมปีที่แล้วซึ่งจากตอนนั้นมาถึงตอนนี้มีหลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป มาตรการล็อกดาวน์ในหลายๆ พื้นที่เริ่มคลายตัวลงหลังจาก 20% ของชาวอเมริกันได้รับวัคซีนต้านโควิดอย่างน้อยหนึ่งโดส ภาพรวมของสหรัฐอเมริกาดูสดใสขึ้นมากนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา การที่ราคาสินค้าเริ่มถูกปรับขึ้นทำให้นักวิเคราะห์เชื่อว่าเฟดต้องปรับตัวเลขคาดการณ์ของดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้อัตราเงินเฟ้อ
นอกจากประเด็นที่ได้กล่าวถึงไปยังมีอีกสองเรื่องสำคัญ หนึ่งคือเฟดเริ่มเป็นกังวลกับสิ่งที่เกิดขึ้นในผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลแล้วหรือไม่? และสองคือการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยด้วยแผนภาพแบบจุด (dot plot) จะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่? จริงอยู่ว่าก่อนหน้านี้เจอโรม พาวเวลล์ประธานเฟดพูดชัดว่าเขายังไม่กังวลเรื่องผลตอบแทนพันธบัตรฯ แต่จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นยังคงทำให้นักลงทุนไม่เชื่อว่าเฟดจะวางใจไปได้อีกนาน
ต่อให้พาวเวลล์ยังไม่กังวลเรื่องผลตอบแทนพันธบัตรฯ แต่แผนภาพแบบจุดจะต้องมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น และหากนำข้อมูลจากแผนภาพมาประกอบเข้ากับตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เริ่มจะขยายตัวจะยิ่งทำให้ดัชนีดอลลาร์สหรัฐที่เป็นตัววัดมูลค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐยิ่งได้ใจและปรับตัวขึ้นต่อ การรายงานตัวเลขยอดค้าปลีกที่จะเกิดขึ้นในวันนี้จะมีบทบาทสำคัญต่อการตัดสินใจของเฟดในวันพุธด้วย นักวิเคราะห์คาดการณ์กันว่าตัวเลขยอดค้าปลีกครั้งนี้จะไม่เติบโตอย่างก้าวกระโดดแบบที่ได้เห็นในเดือนกุมภาพันธ์ แต่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวขึ้น ค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยและตัวเลขการจ้างงานฯ ที่ปรับขึ้นอาจทำให้เราได้เห็นการประกาศแบบเซอร์ไพรส์จากธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้
ความโชคร้ายของยูโรโซนยังไม่จบแค่นั้น เหมือนโควิด-19 จะรู้หน้าที่เพราะทันทีที่ไม่มีเกราะคุ้มภัย โควิดจึงเริ่มกระจายตัวอีกครั้งในหลายๆ พื้นที่เช่นเยอรมันและอิตาลีจนอิตาลีต้องออกมาตรการล็อกดาวน์ใหม่ก่อนวันหยุดอีสเตอร์ กรมสาธารณสุขของเยอรมันถึงกับเรียกกว่าแพร่ระบาดครั้งนี้ว่า “การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระลอกที่สาม” ซึ่งทั้งสองประเทศก็เจอปัญหาเรื่องการกระจายวัคซีนล่าช้าเป็นทุนเดิมอยู่แล้วด้วย นี่คือความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างสถานการณ์การฟื้นตัวจากโควิดในสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป การรายงานตัวเลขผลสำรวจทางเศรษฐกิจจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป (ZEW) ในวันนี้อาจดีขึ้นเพราะได้รับอานิสงส์จากขาขึ้นในตลาดหุ้นซึ่งสวนทางกับความเป็นจริงเป็นอย่างมาก