-
สัปดาห์ที่ผ่านมา เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง หนุนโดยยอดการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นมากกว่าคาด
-
ตลาดการเงินอาจผันผวนขึ้น หากตลาดกังวลแนวโน้มเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น จากเงินเฟ้อของสหรัฐฯ อาทิ CPI และ PPI รวมถึง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ วงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มจะผ่านสภาคองเกรสได้
-
ทิศทางยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ยังเป็นปัจจัยกำหนดตลาดการเงินในระยะสั้น ตลาดอาจปิดรับความเสี่ยงต่อ หากยีลด์ยังคงพุ่งขึ้นจากความกังวลแนวโน้มเงินเฟ้อเร่งตัว ซึ่งจะหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ แรงซื้อดอลลาร์จากผู้นำเข้าและบริษัทต่างชาติยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง ทำให้ค่าเงินบาทอาจกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ยากในช่วงนี้
-
กรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 30.20-30.70 บาท/ดอลลาร์
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
-
ฝั่งสหรัฐฯ – เศรษฐกิจสหรัฐฯมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น หนุนโดยการฉีดวัคซีนที่เร่งตัวขึ้น (วันละ 2.16 ล้านโดส )และการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown สะท้อนผ่านตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวดีขึ้น โดยยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) จะลดลงเหลือ 7.3 แสนราย นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีโอกาสได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ วงเงินกว่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ ที่มีโอกาสผ่านการอนุมัติจากสภาคองเกรสในสัปดาห์นี้ อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวเศรษฐกิจและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ รวมทั้ง ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นมากจากปีก่อนหน้า จะทำให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น สะท้อนผ่าน ทั้งดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1.7% จาก 1.4% ในเดือนก่อนและดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ที่จะเร่งตัวขึ้นจาก 1.7% สู่ระดับ 2.7% ซึ่งภาพดังกล่าวอาจสร้างความกังวลให้กับตลาดการเงินและทำให้บอนด์ยีลด์ระยะยาวปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วได้อีกครั้ง
-
ฝั่งยุโรป – แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป เริ่มดีขึ้นหลัง การระบาดของ COVID-19 เริ่มสงบลง ไปพร้อมกับการเดินหน้าแจกจ่ายวัคซีน ทำให้บรรดานักลงทุนเริ่มมีความมั่นใจต่อแนวโน้มเศรษฐกิจมากขึ้น สะท้อนผ่าน ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (Sentix Investors Confidence) เดือนมีนาคม ที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1.4 จุด (ดัชนีมากกว่า 0 หมายถึง มุมมองที่เป็นบวก) ทั้งนี้ การฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเศรษฐกิจจะส่งผลให้ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เลือกที่จะใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อ โดยจะคงอัตราดอกเบี้ย Deposit Facility Rate ไว้ที่ -0.50% ควบคู่ไปกับการอัดฉีดสภาพคล่องผ่านการทำคิวอี
-
ฝั่งไทย – ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์อาจเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 48 จุด หลังยอดผู้ติดเชื้อ COVID ใหม่ทยอยลดลง และรัฐบาลก็ได้ทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ในหลายพื้นที่ ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ได้ออกมาตรการช่วยเหลือ อาทิ คนละครึ่ง เราชนะ รวมถึง มาตรการลดค่าน้ำ ค่าไฟ (ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์ ชะลอลงเหลือ -1.17%)