เปิดตลาดด้วยความคึกคักทีเดียวหลังจากนักลงทุนสหรัฐฯ ได้หยุดยาวไปสามวันเต็มๆ สังเกตได้จากการปรับตัวขึ้นสู่จุดสูงสุดใหม่ได้อีกเช่นเคยของหุ้นชื่อดังหลายๆ ตัว แม้รายงานตัวเลขดัชนีภาคการผลิตจากเอ็มไพร์ สเตตจะปรับตัวขึ้น แต่ ดอลลาร์สหรัฐ กลับยังคงอ่อนค่า ตอนนี้จึงเหลือเพียงหวังให้ตัวเลขยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้นจึงจะมีโอกาสช่วยให้ดอลลาร์ฟื้นตัวได้
ในช่วงสิ้นปี 2020 ที่ผ่านมาถือเป็นช่วงเวลาที่หนักหนาสาหัสสำหรับวงการค้าปลีก ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคลดลงเป็นเวลาสามเดือนติดต่อกัน นักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่าการรายงานตัวเลขยอดค้าปลีกของเดือนมกราคมในวันนี้จะดีขึ้นในแง่ของการจับจ่ายใช้สอย แต่ในแง่ของค่าจ้างและการจ้างงานอาจจะพอเติบโตได้บ้างแต่ช้า หากวันนี้กลายเป็นว่าการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคลดลงเป็นเดือนที่สี่ติดต่อกัน ข่าวดีเกี่ยวกับการกระจายวัคซีนอาจไม่มีแรงมากพอที่จะพาตลาดหุ้นให้หลุดออกจากภาวะพักตัวได้ นอกจากรายงานตัวเลขค้าปลีกแล้ว นักลงทุนจะให้ความสนใจกับรายงานจากประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ นักวิเคราะห์ประเมินว่าผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะออกมาในช่วงตี 2 ตามเวลาประเทศไทยวันนี้อาจแสดงให้เห็นตัวเลขการจ้างงานชะลอตัวแต่ในภาคของการฟื้นตัวทางธุรกิจอาจดีขึ้น แม้รายงานการประชุมครั้งนี้จะเป็นอีกแรงผลักดันหนึ่งของดอลลาร์สหรัฐ แต่ก็ยังไม่มีนัยสำคัญมากพอเมื่อเทียบกับรายงานตัวเลขยอดค้าปลีก
ก่อนที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะเปิดทำการ สกุลเงินยูโรได้อ่อนค่าลงไปก่อนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐก่อนที่จะสามารถดีดตัวกลับขึ้นมาได้เพราะรายงานตัวเลขภาวะทางเศรษฐกิจของเยอรมันและยูโรโซนจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป (ZEW) ออกมาดีเกินคาด ประธานศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรปให้ความเห็นต่อสภาพเศรษฐกิจ ณ ปัจจุบันดังนี้
“ผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดการเงินมีมุมมองที่เชื่อมั่นมากขึ้นกับอนาคต พวกเขาเชื่อว่าเศรษฐกิจของเยอรมันจะสามารถกลับมาเติบโตได้อีกครั้งภายในหกเดือนข้างหน้า”
ในความเป็นจริงตอนนี้นั้นฝั่งยูโรโซนถือว่ายังฟื้นตัวได้ช้า รายงานตัวเลข GDP ในไตรมาสที่สี่ของยูโรโซนสามารถเอาชนะตัวเลขคาดการณ์ได้ แม้ว่าจะปรับตัวขึ้นเล็กน้อย แต่การฟื้นตัวนี้ยังไม่ดีพอเมื่อเทียบกับตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ นั่นจึงทำให้กราฟ EUR/USD ปรับตัวลดลงไปต่ำกว่า 1.21
กราฟ GBP/USD ปรับตัวขึ้นในช่วงบ่ายของเมื่อวานนี้ก่อนที่จะปรับตัวลดลงในช่วงที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เปิดทำการ การรายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในวันนี้จะได้รับความสนใจเป็นพิเศษเพราะนักลงทุนทั่วโลกกำลังเริ่มเป็นกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อ การรายงานตัวเลขดัชนี PMI ครั้งล่าสุดยืนยันแล้วว่าตัวเลขในภาคการผลิตและบริการเพิ่มขึ้น แต่ข่าวดีที่ยังช่วยหนุนสกุลเงินปอนด์เอาไว้คือประสิทธิภาพการกระจายวัคซีนภายในสหราชอาณาจักรที่ประสบความสำเร็จและทำให้คนกลับมามีความเชื่อมั่นในสหราชอาณาจักรมากขึ้น แม้สกุลเงินปอนด์จะอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แต่ถือว่ายังแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ
สกุลเงินที่พึ่งพามูลค่าจากสินค้าโภคภัณฑ์เป็นหลักอ่อนค่าลงเมื่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ เปิดทำการโดยมี สกุลเงินดอลลาร์แคนาดา ที่ปรับตัวลดลงมากที่สุด วันนี้แคนาดาจะมีรายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เช่นเดียวกันกับสหราชอาณาจักร การที่ดัชนี PMI จาก IVEY ปรับตัวขึ้นไปก่อนหน้านี้เป็นการส่งสัญญาณว่า CPI ในวันนี้น่าจะมีโอกาสปรับตัวขึ้นตาม ดอลลาร์ออสเตรเลีย อ่อนค่าเมื่อข้อมูลจากรายงานการประชุมของธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ซึ่งเผยว่า RBA จะยังคงใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินต่อไปอีกสักระยะ ส่วนดอลลาร์นิวซีแลนด์ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์สามวันซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับภาคบริการและทำให้สกุลเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ เทียบดอลลาร์สหรัฐปรับตัวลดลง