ดัชนีหลักในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดสัปดาห์ที่แล้วด้วยการปรับตัวลดลงจากจุดสูงสุดตลอดกาล แม้ว่าจะได้ประธานาธิบดีคนใหม่นายโจ ไบเดนไปเป็นที่เรียบร้อย และเชื่อว่าสหรัฐอเมริกาต่อจากนี้จะกลับมาอยู่ในร่องในรอยได้มากขึ้น แต่นักลงทุนก็ยังแสดงความเป็นกังวลเกี่ยวกับภาพรวมยอดผู้ติดเชื้อโควิดภายในอเมริกาและคาดหวังว่าสัปดาห์นี้จะได้เห็นข่าวดีเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่ไบเดนได้สัญญาเอาไว้
อย่างไรก็ตาม มีรายงานออกมาจากนักวิเคราะห์ของสำนักข่าว “Wall Street Journal” ว่า “มีโอกาสที่สัปดาห์นี้ขาขึ้นในตลาดหุ้นจะยังสามารถปรับตัวขึ้นไปได้หากรายงานผลประกอบการของบริษัทเอกชนสหรัฐฯ สัปดาห์นี้ออกมาดี” เหตุใดรายงานผลประกอบการของสัปดาห์นี้จึงสำคัญกว่าสัปดาห์อื่นๆ ทั้งที่สัปดาห์ที่แล้วก็มีการรายงานของกลุ่มธนาคารไป? สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเป็นเพราะสัปดาห์นี้ถึงคิวของบริษัทที่อยู่ในกลุ่มเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ที่เชื่อว่านักลงทุนทุกคนต้องรู้จักกันดีอย่างเช่นแอปเปิล (NASDAQ:AAPL) เทสลา (NASDAQ:TSLA) เฟซบุ๊ก (NASDAQ:FB) และบริษัทอื่นๆ อีกมากมาย
การรายงานผลประกอบการครั้งนี้อาจทำให้ดัชนีสหรัฐฯ ดีดขึ้นแรง
ดัชนีเอสแอนด์พี 500ของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงเมื่อวันศุกร์ที่แล้วเป็นครั้งแรกในรอบสี่วันอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความกังวลของนักลงทุนที่มีต่อการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ในสหราชอาณาจักรที่แพร่ได้รวดเร็วกว่าและเป็นอันตรายมากกว่า นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันของอังกฤษถึงขั้นออกโรงเตือนว่าผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่มีโอกาสเสียชีวิตจากโรคนี้ได้ง่ายขึ้น 30% และมีโอกาสแพร่โควิดได้ไวถึง 50-70% ในขณะเดียวกัน บุคคลากรทางการแพทย์ของสหรัฐฯ ได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับโควิดสายพันธุ์ใหม่ว่า “ต้องการข้อมูลมากกว่านี้”
แม้เอสแอนด์พี 500 จะปรับตัวลดลง 0.3% เมื่อวันศุกร์ แต่ตลอดทั้งสัปดาห์ที่แล้ว กราฟสามารถปรับตัวขึ้นมาได้ 1.9% และสามารถปิดเหนือจุดสูงสุดของสัปดาห์ในวันที่ 15 มกราคมได้ พระเอกที่ยังช่วยหนุนดัชนีดังกล่าวให้ปรับตัวสูงขึ้นยังคงเป็นหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี หุ้นในกลุ่มผู้ให้บริการโทรคมนาคมปรับตัวขึ้น 5.4% ในขณะที่หุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวขึ้น 4.25%
นอกจากดัชนีเอสแอนด์พี 500 แล้ว ดัชนีตัวอื่นๆ อย่างดาวโจนส์ แนสแด็กและรัสเซล 2000 ต่างก็สามารถสร้างจุดสูงสุดใหม่ได้ทั้งหมด และได้ทำสถิติขาขึ้นหลังพิธีสาบานตนที่แรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1932 อันที่จริง ตลาดสามารถวิ่งอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นมาได้ตั้งแต่ก่อนการมาของไบเดน และทีมงานแล้ว ทุกคนก็ทราบดีว่าตั้งแต่ทราบผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่ทรัมป์พ่ายแพ้ก็หนุนให้ตลาดหุ้นอยู่ในขาขึ้นมาโดยตลอด ยิ่งได้เห็นภาพที่เดโมแครตสามารถครองได้ทั้งทำเนียบขาว สภาสูงและสภาล่างได้แล้ว และคำสัญญาของไบเดนที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจอีก $1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐยิ่งที่ทำให้ตลาดปรับตัวสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยิ่งตลาดสามารถขึ้นสูงได้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งดูเหมือนกับว่าตลาดวิ่งออกห่างจากความเป็นจริงมากเท่านั้น หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2008 ของสหรัฐฯ คือการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณหรือที่เรารู้จักกันในนามของ “QE” การมาของโควิดทำให้รัฐบาลไม่มีทางเลือกนอกจากต้องอัดเงินเข้าระบบเสริมสภาพคล่อง ทำให้นักลงทุนบางส่วนยิ่งกังวลว่าการกระตุ้นอีก $1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐจะยิ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงที่อเมริกาต้องเจอกับปัญหาอัตราเงินเฟ้ออีกครั้งหนึ่ง
แม้ว่าเราจะพยายามวิเคราะห์มาตั้งแต่ปี 2020 แล้วว่าขาขึ้นของเอสแอนด์พี 500 ที่ติดกรอบสามเหลี่ยมปากอ้าด้านบนมีโอกาสที่จะสวิงกลับลงมาได้ทุกเมื่อ แต่ยิ่งสหรัฐฯ อัดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมากเพียงใด กราฟก็มีแต่จะปรับตัวสูงขึ้นจนในที่สุดก็สามารถหลุดกรอบสามเหลี่ยมปากอ้าขึ้นไปได้เรียบร้อย ความเห็นของเราตอนนี้คือกราฟมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อโดยมีแนวรับอยู่ที่ 3,600 จุด
ดัชนีวัดความผันผวนของตลาดลงทุน (VIX) ปรับตัวลดลงต่ำกว่าเส้นเทรนด์ไลน์ขาขึ้นที่ลากมาตั้งแต่จุดต่ำสุดวันที่ 27 พฤศจิกายนเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว สร้างความเป็นไปได้ที่อาจทำให้เกิดรูปแบบหัวไหล่ (Head & Shoulder) ในทิศทางลงต่อเกิดขึ้นโดยมีเทรนด์ไลน์ขาลง (เส้นประ) คอยคุมทิศทางของกราฟเอาไว้อยู่
กราฟผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีสนับสนุนแนวโน้มขาขึ้นที่เกิดอยู่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เพราะกราฟได้สร้างรูปแบบธงที่หนุนความเป็นเป็นได้ของแนวโน้มขาขึ้น ยิ่งการเกิดกรอบรูปธงเกิดขึ้นในบริเวณที่ใกล้กับกรอบราคาด้านบนยิ่งเพิ่มความเป็นไปได้ที่อาจมีการทะลุกรอบราคาขึ้นไป
กราฟดัชนีดอลลาร์สหรัฐยังไม่สามารถขึ้นยืนเหนือเทรนด์ไลน์ที่ลากมาตั้งแต่จุดสูงสุดในเดือนมีนาคมปี 2020 ได้
การที่ดัชนีดอลลาร์สหรัฐยังไม่สามารถขึ้นยืนเหนือเส้นค่าเฉลี่ย 50 วันได้ ผลักราคาให้ตกลงไปอยู่ต่ำกว่าเส้นเทรนด์ไลน์ที่ลากมาตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2020 และทำให้กราฟหลุดกรอบราคาขาขึ้นระยะสั้นออกมาในที่สุด อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักลงทุนกำลังให้ความสนใจคือขาลงครั้งนี้จะเป็นการลงไปสร้างส่วนของไหล่ขวาตามรูปแบบหัวไหล่ (Head & Shoulder) หรือไม่ หากเป็นเช่นนั้น มีโอกาสที่กราฟจะปรับตัวขึ้นในระยะยาว แต่ก็ต้องผ่านเทรนด์ไลน์ขาลงใหญ่ขึ้นมาให้ได้ก่อน
เมื่อพูดถึงทองคำตอนนี้ นักลงทุนในตลาดค่อนข้างสับสนว่าจะถือทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่คานอันตราเงินเฟ้อดีหรือถือในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยดี
กราฟราคาทองคำวิ่งอยู่ในกรอบธงลู่ขึ้นที่ไม่สมบูรณ์แบบตามทฤษฎีเท่าไหร่ เหตุผลที่ไม่สมบูรณ์แบบเพราะมีส่วนไส้ของแท่งเทียนที่หลุดกรอบออกมา หากราคาทองคำสามารถทะลุหลุดกรอบขาลงใหญ่ขึ้นมาได้ อาจเป็นการเปิดโอกาสให้ขาขึ้นสามารถกลับมามีบทบาทได้อีกครั้ง
ราชาสกุลเงินดิจิทัลบิทคอยน์ปรับตัวลดลงวิ่งอยู่ในกรอบมาเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์เต็ม แบ่งนักลงทุนออกเป็นสองฝั่งระหว่างฝั่งที่เชื่อว่านี่คือจุดเริ่มต้นของการปรับฐานระยะสั้นกับกลุ่มที่เชื่อว่านี่คือการย่อเพื่อรอที่จะปรับตัวขึ้นต่อ
แม้ว่าราคาน้ำมันดิบจะปรับตัวลดลงในวันศุกร์ แต่ราคาก็ยังสามารถดีดกลับขึ้นมามีราคาปิดสูงกว่าจุดต่ำสุดได้
กราฟราคาน้ำมันดิบ WTI ดีดตัวขึ้นจากจุดต่ำสุดของกรอบราคาและเส้นเทรนด์ไลน์ขาขึ้นระยะยาวพอดี แม้จะเป็นการวิ่งอยู่ในรูปแบบธงขาลง แต่ก็มีโอกาสที่การวิ่งแบบนี้จะเป็นการพักตัวเพื่อปรับตัวขึ้นต่อในสัปดาห์นี้
ข่าวทางเศรษฐกิจที่สำคัญประจำสัปดาห์ (เวลาทั้งหมดคำนวณเป็น EST)
วันจันทร์
03:45 (ยูโรโซน) แถลงการณ์จากประธานธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรปนางสาวคริสตีน ลาการ์ด
04:00 (เยอรมัน) ดัชนีวัดบรรยากาศทางธุรกิจโดยสถาบัน Ifo: คาดว่าจะปรับตัวลดลงจาก 92.1 เป็น 91.8
วันอังคาร
02:00 (สหราชอาณาจักร) รายงานจำนวนคนว่างงานที่ใช้สิทธิประโยชน์จากการว่างงาน: ครั้งที่แล้วมีตัวเลขออกมาอยู่ที่ 64.3K
10:00 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจากซีบี: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 88.6 เป็น 89.0
19:30 (ออสเตรเลีย) ดัชนีราคาผู้บริโภค: คาดว่าตัวเลขแบบไตรมาสต่อไตรมาสจะลดลงมากกว่าครึ่งจาก 1.6% เป็น 0.7%
วันพุธ
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 0.4% เป็น 0.5%
10:30 (สหรัฐฯ) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง: ตัวเลขในสัปดาห์ที่แล้วลดลง 1.975 ล้านบาร์เรล
14:00 (สหรัฐฯ) ผลการตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ: คาดว่าคงเดิมอยู่ที่ 0.2%
วันพฤหัสบดี
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลข GDP: คาดว่าจะลดลงจาก 33.4% เหลือ 4.0%
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก: คาดว่าจะลดลงจาก 900Kคน เป็น 878Kคน
10:00 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขยอดขายที่อยู่อาศัยใหม่: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 841K เป็น 860K
วันศุกร์
04:00 (เยอรมัน) รายงานตัวเลขอัตราการว่างงาน: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก -37K เป็น 3K
08:30 (แคนาดา) รายงานตัวเลข GDP: คาดว่าแบบเดือนต่อเดือนจะคงที่อยู่ที่ 0.4%
10:00 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขยอดขายที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างรอจำนอง: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก -2.6% เป็น -0.6%
วันเสาร์
20:00 (ประเทศจีน) รายงานตัวเลขดัชนี PMI ภาคการผลิต: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 51.9 เป็น 52.0