เป็นที่ทราบกันดีว่าสถานการณ์ความต้องการน้ำมันในปีนี้อยู่ในจุดที่เลวร้ายที่สุดในรอบทศวรรษ เมื่อมองไปยังช่วงเวลาที่เหลืออยู่ก่อนสิ้นปี 2020 และก้าวต่อไปในปี 2021 เราก็ได้เห็นข่าวที่น่าใจหายเมื่อสององค์กรที่มีชื่อเสียงในวงการน้ำมันอย่างองค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก (OPEC) และองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ได้ปล่อยรายงานอัปเดตคาดการณ์ความต้องการน้ำมันดิบออกมาซึ่งผลที่ออกมานั้นคือพวกเขาได้หั่นตัวเลขความต้องการน้ำมันลดลง
เหตุผลหลักที่ทั้งสององค์กรมองว่าเป็นตัวการสำคัญคือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จนนำไปสู่การล็อกดาวน์เศรษฐกิจทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป แต่ดูเหมือนว่านักลงทุนที่อยู่ในตลาดน้ำมันคงจะไม่ได้อ่านรายงานฉบับนี้เพราะแทนที่ราคาน้ำมันจะถูดกดดันจากข่าวจนปรับตัวลดลง กลับกลายเป็นว่านักลงทุนดีใจกับข่าวการฉีดวัคซีนเข็มแรกจนดันให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ปรับตัวขึ้นจนมีราคาซื้อขายอยู่ที่ $51 ต่อบาร์เรลและน้ำมันดิบ WTI สามารถขึ้นแตะ $48 ต่อบาร์เรลราวกับว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 หมดจากโลกไปแล้ว
การปรับลดตัวเลขความต้องการน้ำมันครั้งนี้ของโอเปกมีข้อมูลอ้างอิงมาจากรายงานภาพรวมตลาดน้ำมันประจำเดือนธันวาคมปี 2020 ในรายงานฉบับนั้นโอเปกระบุว่าความต้องการน้ำมันในปี 2021 จะเพิ่มขึ้นเพียง 5.9 ล้านบาร์เรล ลดลง 350,000 บาร์เรลต่อวันจากการคาดการณ์ครั้งก่อนหน้า การปรับลดตัวเลขคาดการณ์นี้กลายเป็นการโยนความกดดันมาให้กับโอเปกพลัสจนต้องมีการประชุมด่วนในวันที่ 4 มกราคมปี 2021 เลยทีเดียวเพราะโอเปกพลัสกลัวว่าการลดตัวเลขคาดการณ์นี้จะส่งผลกระทบต่อคำสัญญาที่จะทยอยเพิ่มกำลังการผลิตวันละ 500,000 บาร์เรลต่อวันในการประชุมเมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
แม้รายงานที่ออกมาของกลุ่มโอเปกจะระบุว่าเกิดมาจากการใช้คอมพิวเตอร์คำนวณเพียงอย่างเดียวโดยเป็นอิสระจากปัจจัยทางการเมืองของแต่ละประเทศกลุ่มสมาชิก อย่างไรก็ตามเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เชื่อถือได้ยากในสายตาของคนนอกจะไม่ให้การเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับการคำนวณได้อย่างไรเมื่อเงินสนับสนุนการเขียนรายงานเหล่านี้ก็มาจากสมาชิกภายในของกลุ่มโอเปกเอง ที่น่าสนใจก็คือว่ารายงานฉบับนี้ออกมาหลังจากที่มีการลงมติเพิ่มกำลังการผลิตในวันที่ 1 มกราคม 2021 จึงเกิดมาสู่การตั้งคำถามว่านี่จะเป็นเกมการเมืองภายในองค์กรหรือไม่
นาย Abdelmajid Attar ประธานกลุ่มโอเปกคนปัจจุบันกล่าวถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า
“แม้จะมีสัญญาณที่ดีขึ้นในเรื่องของการต่อสู้กับโควิดซึ่งทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ผมมองว่าอย่างไรโอเปกก็ยังควรดำเนินการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันอย่างระมัดระวัง ในสถานการณ์ที่ดีที่สุด เราอาจจะสามารถผลิตน้ำมันวันละ 2 ล้านบาร์เรลได้ภายในช่วงต้นเดือนเมษายน แต่เป้าหมายนี้ไม่ใช่เป้าหมายหลักของเรา”
ตั้งแต่แรกซาอุดิอาระเบียก็เป็นตัวตั้งตัวตีไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มกำลังการผลิตตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมปี 2021 อยู่แล้ว การออกมาของรายงานฉบับนี้อาจจะทำให้ซาอุดิอาระเบียมีข้ออ้างเปลี่ยนแปลงมติกลุ่มภายในการประชุมด่วนวันที่ 4 มกราคมนี้ได้ แต่หายภายในสองสัปดาห์ก่อนถึงปีใหม่นี้ ราคาน้ำมันยังวิ่งเกาะอยู่ที่ $47-$48 ต่อบาร์เรล ไม่ปรับตัวลดลงมาอาจจะเป็นการเปิดโอกาสให้รัสเซียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีข้ออ้างในการเพิ่มกำลังการผลิตอีก 500,000 บาร์เรลต่อวัน ทั้งสองประเทศสามารถอ้างได้ง่ายๆ เลยว่าที่ราคาน้ำมันไม่ลงเป็นเพราะความต้องการน้ำมันจากประเทศจีนและอินเดียสามารถชดเชยส่วนที่เสียไปจากสหรัฐฯ และยุโรปได้หรืออาจจะอ้างได้ว่าตลาดไม่ได้กลัวตัวเลขคาดการณ์มากเท่ากับที่ซาอุดิอาระเบียกลัวแม้ว่าจะสวนทางกับความเป็นจริงก็ตาม
ดังนั้นการประชุมด่วนของกลุ่มโอเปกในวันที่ 4 มกราคมปี 2021 นี้จะเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายที่ต้องการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันนำโดยรัสเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และผู้ที่ต้องการเพิ่มกำลังการผลิต กับฝ่ายที่ต้องการลดกำลังการผลิตซึ่งนำโดยซาอุดิอาระเบียและประเทศที่ตามซาอุดิอาระเบียอย่างซื่อสัตย์
คำถามสำคัญสำหรับรัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันของโอเปกพลัสในตอนนี้ที่เราอยากจะถามก็คือ
“ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน การเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันนั้นจำเป็นจริงๆ หรือ? เพราะขาขึ้นของราคาน้ำมันในตอนนี้ดูเหมือนว่าจะไม่ได้รับแรงหนุนมาจากอุปสงค์อุปทานปกติ”