- ราคาน้ำมันปรับตัวลงก่อนการประชุมโอเปกพลัส
- ราคาทองคำปรับตัวลงตามตลาดหุ้น และดอลลาร์สหรัฐ
เหตุการณ์สำคัญ
ตลาดซื้อขายล่วงหน้าของดัชนีดาวโจนส์ เอสแอนด์พี 500 และรัสเซล 2000 ปรับตัวลดลงเมื่อวันจันทร์ในขณะที่เงินของนักลงทุนวนไหลกลับเข้าไปอยู่ในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีบน NASDAQ อีกครั้ง แม้จะมีขาลงก่อนเปิดตลาดหุ้นวอลล์สตรีทเมื่อคืน แต่ถึงอย่างไรเดือนพฤศจิกายนก็ได้ชื่อว่าเป็นเดือนสำหรับขาขึ้นที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งของตลาดหุ้นในปี 2020 แน่นอนแล้ว
เมื่อไปดูสถานการณ์ทางตลาดซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์จะพบว่าราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวลงก่อนการประชุมของกลุ่มโอเปกพลัส หัวข้อที่ประเทศสมาชิกจะพูดถึงกันในคราวนี้ถือว่าน่าติดตามเป็นอย่างมากเพราะนี้จะเป็นการชี้ชะตาการลดกำลังการผลิตน้ำมันในช่วงต้นปี 2021 ว่าจะยืดระยะเวลาการลดกำลังการผลิตออกไปได้อีกไกลแค่ไหน สมาชิกบางประเทศอย่างเช่นอีรักอาจจะไม่เห็นด้วยกับการลดกำลังการผลิตเพราะต้องการสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศของตนเอง
ภาพรวมตลาดลงทุนทั่วโลก
สัญญาซื้อขายบนดัชนีรัสเซล 2000 ลดลงเมื่อนักลงทุนหันกลับไปหาดัชนีวัดการเติบโตทางเทคโนโลยีมากขึ้นซึ่งความเคลื่อนไหวรูปแบบนี้เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นทั่วโลก หุ้นในกลุ่มธนาคารหรือพลังงานที่เคยทำผลงานขาขึ้นอย่างโดดเด่นในเดือนพฤศจิกายนปรับตัวลดลงอีกครั้งในขณะที่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคสามารถวิ่งขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ
ดัชนี Stoxx 600 ของตลาดลงทุนในยุโรปปรับตัวลดลงอันเป็นผลกดดันมาจากการเจรจา Brexit และยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสัปดาห์ที่แล้ว ยอดผู้เสียชีวิตจากโควิดในยุโรปเพิ่มขึ้นเกิน 400,000 คน แม้การเจรจา Brexit จะกลับมาเริ่มพูดคุยกันอีกครั้งเมื่อวันเสาร์ แต่สิ่งที่นักลงทุนให้ความสนใจคือจะมีการยกหูโทรศัพท์ต่อสายตรงระหว่างนางอัวร์ซูลา แกร์ทรูท ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมธิการยุโรปกับนายกรัฐมนตรีอังกฤษนายบอริส จอห์นสันหรือไม่เพราะการพูดคุยกันระหว่างทั้งสองคนสำหรับนักลงทุนแล้วหมายถึงการ กลับมาเจรจากันเรื่อง Brexit อีกครั้ง ในตอนนี้เหลือเวลาอีกเพียง 5 สัปดาห์สุดท้ายเท่านั้นก่อนการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร และการก้าวเข้าสู่ปี 2021
หุ้นในกลุ่มพลังงานคือผู้ที่ทำผลงานได้แย่ที่สุดเมื่อวานนี้ หุ้นของบริษัทผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของยุโรปอย่างรอยัล ดัช เชล (RDSa) และบีพี (BP) ต่างปรับตัวลดลงก่อนการประชุมของกลุ่มโอเปกพลัส
ดัชนีของตลาดหุ้นฝั่งเอเชียแปซิฟิก MSCI ปรับตัวลดลง 1.6% แต่ก็สามารถวิ่งกลับขึ้นมาได้ ดัชนีฮั่งเส็งของฮ่องกงร่วงลงอีก 2.1% เพราะยอดผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้น และมีความเป็นไปได้ที่ฮ่องกงจะต้องเจอกับมาตรการคว่ำบาตรใหม่จากสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับบริษัทสัญชาติจีน พูดถึงประเทศจีนก็ต้องมาดูดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตที่ยังคงทำผลงานขาขึ้นได้อย่างดีเยี่ยมต่อเนื่อง เมื่อวานนี้ย่อตัวลดลงมาเพียง 0.5% เท่านั้นหลังจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนเผยว่าตัวเลขดัชนี PMI ภาคการผลิตของจีนที่ออกมา 52.1 สามารถเอาชนะตัวเลขคาดการณ์ 51.5 ไปได้
ดัชนีนิคเคอิของประเทศญี่ปุ่นก็ถือว่าทำผลงานได้ดีเป็นรองจากจากเซี่ยงไฮ้ของจีน ปรับตัวลดลง 0.8% เท่านั้นหลังจากได้ทราบตัวเลขยอดขายปลีกตลอดทั้งปีปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.4% จากญี่ปุ่นลงมาที่ออสเตรเลียจะพบว่าดัชนี ASX 200 ร่วงลง 1.25% กลืนขาขึ้นที่ทำมาของสัปดาห์ที่แล้วหมดสิ้น แต่ถึงอย่างนั้นเมื่อดูผลงานตลอดทั้งปีก็จะเห็นว่ายังเป็นเดือนที่ทำกำไรได้ดีที่สุดเดือนหนึ่งอยู่ ขาลงครั้งนี้เกิดขึ้นจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างออสเตรเลียกับประเทศจีนที่ตอนนี้จีนได้ตั้งกำแพงภาษีเพิ่มขึ้น 200% กับการนำเข้าไวน์จากออสเตรเลีย
กลับมาที่สหรัฐฯ ที่โดยภาพรวมแล้วยังอยู่ในบรรยากาศขาขึ้น สัปดาห์ที่แล้วตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังสามารถสร้างจุดสูงสุดใหม่ได้อยู่จนเดือนพฤศจิกายนกลายเป็นเดือนที่ดีที่สุดของดัชนีเอสแอนด์พี 500 นับตั้งแต่ปี 1950 เลยจากข่าวดีของความคืบหน้าวัคซีนต้านโควิด-19
สรุปภาพรวมของตลาดหุ้นทั่วโลกได้สั้นๆ ว่าเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาถือเป็นเดือนที่ดีสำหรับตลาดลงทุน ตลาดหุ้นทั่วโลกสามารถปรับตัวขึ้นได้ 13% จากความหวังที่มีต่อวัคซีนต้านโควิด-19 และความหวังที่จะได้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติในปีหน้า แม้ว่าตอนนี้สหรัฐฯ และยุโรปจะยังมียอดผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มสูงขึ้น ธนาคารโกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่ากว่าที่คนทั่วไปจะสามารถเข้าถึงวัคซีนได้อาจจะต้องรอไปจนถึงกลางปี 2021 ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวคือเวลาที่เราจะได้เห็นการเติบโตทางเศรษฐกิจกลับมาอย่างมีนัยสำคัญอีกครั้ง
นายเจอโรม อดัมส์ โฆษกกระทรวงสาธารณสุขของอเมริกาให้สัญญากับประชาชนชาวอเมริกันในวันอาทิตย์ว่าจะรีบตรวจสอบความสามารถของวัคซีนให้เร็วที่สุดทันทีที่บริษัทผู้ผลิตยาได้ส่งมอบยาให้ตรวจสอบ ถือเป็นอีกครั้งที่เราได้เห็นพฤติกรรมปิดตาข้างหนึ่งของตลาดหุ้นสหรัฐฯ แม้ยอดผู้ติดเชื้อ และโอกาสล็อกดาวน์จะมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นได้ แต่นักลงทุนก็เลือกที่จะมองข้าม และเลือกเชื่อแต่ข่าวดีของการพัฒนาวัคซีนโควิดเท่านั้น
นอกจากนี้ตลาดยังเชื่อว่าหุ้นของพวกเขาจะได้แรงสนับสนุนมาจากธนาคารกลางสหรัฐฯ อีกเพราะทุกครั้งที่มีแถลงการณ์ ประธานเฟดก็มักจะย้ำเสมอว่าธนาคารกลางฯ ยังมีกระสุนเพียงพอที่จะต่อกรกับภัยใดๆ ก็ตามที่มาคุกคามเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญที่สุด การเปลี่ยนผ่านอำนาจจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สู่ โจ ไบเดน กลับไม่ได้ทำให้ตลาดหุ้นร่วงลงอย่างที่นักวิเคราะห์หลายคนเคยกังวลไว้ก่อนหน้านี้ กลับกลายเป็นว่าสามารถสร้างจุดสูงสุดใหม่ได้อีกอย่างเช่นที่ดาวโจนส์ได้ขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดตลอดกาลใหม่เหนือ 30,000 จุดในสัปดาห์ที่แล้ว
กราฟผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีดีดตัวกลับขึ้นมาจากขาลง
การดีดตัวครั้งนี้ยังก่อให้เกิดรูปแบบแท่งเทียนหัวค้อน (Hammer) ช่วยยืนยันขาขึ้นจากรูปแบบค้อนกลับหัว (Inverted Hammer) เหนือเส้นเทรนด์ไลน์ขาขึ้นอีกครั้ง
กราฟดัชนีดอลลาร์สหรัฐฯยังคงอยู่ในแนวโน้มขาลงที่กำลังมุ่งหน้าลงไปทดสอบจุดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 27 เมษายนปี 2018
ในระหว่างทางการลงไปสร้างจุดต่ำสุดใหม่ที่ต่ำกว่าวันที่ 1 กันยายน ตอนนี้กราฟดัชนีดอลลาร์สหรัฐฯ ก็ได้สร้างรูปแบบ trough ใหม่เป็นที่เรียบร้อย
นอกจากดัชนีดอลลาร์สหรัฐฯ แล้วทองคำก็ยังปรับตัวลดลงตามด้วยเช่นกัน
สำหรับขาลงของทองคำในวันนี้ต้องยกให้การวิเคราะห์ทางเทคนิคเป็นตัวอธิบาย การหลุดกรอบสามเหลี่ยมรูปลิ่มลงมาทำให้ขาลงของทองคำมีน้ำหนักมากขึ้น การที่ราคาทองคำยังอยู่ต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย 200 วันทำให้นักลงทุนยังต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดว่าทองคำยังมีโอกาสจะลงต่อไปหรือไม่
ในทางตรงกันข้ามกับทองคำ สกุลเงินดิจิทัลบิตคอยน์ที่ได้ชื่อว่าเป็นสินทรัพย์สำรองเช่นเดียวกันกลับทำหน้าที่สินทรัพย์สำรองได้อย่างโดดเด่นเกินทองคำ หลังจากลงมาพักตัวเพียงวันเดียวตอนนี้บิทคอยน์ก็พร้อมทะยานกลับขึ้นสู่ $20,000 อีกครั้ง
ราคาน้ำมันดิบยังอยู่ในโหมดชะลอตัวเป็นวันที่สองติดต่อกัน การประชุมของกลุ่มโอเปกพลัสทำให้ทุกฝ่ายตัดสินใจรอดูผลการเลื่อนการลดกำลังการผลิตน้ำมันแม้ว่าความต้องการน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลและน้ำมันเครื่องบินเจ็ตจะมีอยู่เพียง 50% เมื่อเทียบกับความต้องการในช่วงการวิกฤตโควิด-19 จะระบาด
แม้จะเป็นการชะลอตัวของราคาน้ำมันแต่ก็ยังไม่สามารถเรียกว่าขาลงได้เต็มปากเพราะราคายังไม่สามารถทะลุกรอบราคาขาขึ้น (บริเวณสีเขียว) ลงมาได้
ข่าวและเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจสำคัญในสัปดาห์นี้
- การประชุมของกลุ่มโอเปกเพื่อลงมติยืดระยะเวลาลดกำลังการผลิตน้ำมันหรือไม่จะยังคงมีต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้
- ผลการประชุมของธนาคารกลางออสเตรเลีย
- แถลงการณ์ของประธานเฟดต่อสภาคอนเกรสในวันนี้และวันพรุ่งนี้
- รายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรที่จะประกาศในวันศุกร์ คาดว่าตัวเลขดังกล่าวในเดือนพฤศจิกายนจะเพิ่มสูงขึ้น
ภาพรวมความเคลื่อนไหวในตลาดลงทุน
ตลาดหุ้น
ดัชนี S&P 500 ปรับตัวลดลง 0.6%
ดัชนี Stoxx 600 ของยุโรปปรับตัวลดลง 0.4%
ดัชนี MSCI ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกปรับตัวลดลง 1.6%
ดัชนีวัดมูลค่าของตลาดเกิดใหม่ MSCI ปรับตัวลดลง 0.09%
ตลาดสกุลเงิน
ดัชนีดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวลดลง 0.1% มีราคาอยู่ที่ 91.69
กราฟยูโรเทียบดอลลาร์ปรับตัวขึ้น 0.123% มีราคาอยู่ที่ $1.1990
กราฟปอนด์เทียบดอลลาร์ปรับตัวขึ้น 0.2% มีราคาอยู่ที่ $1.3335
กราฟดอลลาร์สหรัฐเทียบเยนปรับตัวลดลง 0.1% มีราคาอยู่ที่ 104.19
บอนด์
กราฟผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีปรับตัวลดลง 1 จุดเบสิส มีตัวเลขอยู่ที่ 0.83%
กราฟผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 2 ปีไม่มีการเปลี่ยนแปลง มีตัวเลขอยู่ที่ 0.83%
กราฟผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเยอรมัน อายุ 10 ปีปรับตัวลดลง 1 จุดเบสิส มีตัวเลขอยู่ที่ -0.60%
กราฟผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหราชอาณาจักร อายุ 10 ปีปรับตัวลดลง 1 จุดเบสิส มีตัวเลขอยู่ที่ 0.271%
สินค้าโภคถัณฑ์
ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลดลง 1.5% มีราคาอยู่ที่ $42.15 บาร์เรล
ราคาทองคำอ่อนค่าลง 0.5% มีราคาอยู่ที่ $1,778.33 ต่อออนซ์