- ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และทั่วโลกจบเดือนพฤศจิกายนด้วยขาขึ้นที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งของปี
- ภาพรวมตลาดน้ำมันดิบยังอยู่ในขาขึ้นแม้จะย่อลงมาเล็กน้อย
- ราคาทองคำยังอยู่ในขาลงและมีโอกาสลงต่อ
ผ่านไปแล้วกับวันขอบคุณพระเจ้าประจำปี 2020 ซึ่งเราได้เห็นว่าไวรัสโรคระบาดไม่สามารถหยุดยั้งความอยากจับจ่ายใช้สอยของมนุษยชาติได้ ดังนั้นในวันสุดท้ายของเดือนพฤศจิกายน และสัปดาห์แรกของเดือนสุดท้ายของปี 2020 เราจึงเชื่อว่าตลาดลงทุนจะยังคงอยู่ในสภาวะขึ้นๆ ลงๆ ระหว่างความคืบหน้าของวัคซีนต้านโควิด-19 และยอดผู้ติดเชื้อรายวันที่ตอนนี้กลับมาอย่างน่ากลัวในช่วงฤดูหนาว จนกว่าจะได้เห็นวัคซีนต้านไวรัสจริงๆ เราคาดว่าสถานการณ์ของตลาดหุ้นจะเป็นเช่นนี้ไปจนถึงอย่างน้อยต้นปี 2021
สำหรับช่วงสองวันแรกของสัปดาห์นี้ investing ขอประเมินเอาไว้ก่อนว่าดัชนี S&P 500 มีโอกาสจะปรับตัวขึ้นต่อ แต่สำหรับราคาน้ำมันนั้นถูกกดดันให้อยู่ในขาลงมาตั้งแต่วันศุกร์เพราะตลาดมีความกังวลเกี่ยวกับผลการประชุมของโอเปกพลัสที่จะเริ่มการประชุมตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันพรุ่งนี้
แม้จะมีปริมาณการซื้อขายที่เบาบาง แต่ตลาดหุ้นก็ยังสร้างจุดสูงสุดได้ใหม่
แม้วันศุกร์ที่แล้วจะเป็นวันหยุดต่อเนื่องมาจากวันขอบคุณพระเจ้า แต่หุ้นของบริษัทอเมริกันบนดัชนี S&P 500 ก็ยังสามารถขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดใหม่ได้ด้วยการปรับตัวขึ้นอีก 0.25% คิดเป็นขาขึ้นตลอดทั้งเดือนของ S&P 500 ทั้งสิ้น 11% ส่งผลให้เดือนพฤศจิกายนกำลังจะกลายเป็นเดือนที่ดีที่สุดสำหรับดัชนีนับตั้งแต่ปี 1950 หากว่าวันนี้ S&P 500 ยังสามารถปิดบวกได้เป็นวันสุดท้ายส่งท้ายเดือน
จากรูปจะเห็นได้ว่ากราฟ S&P 500 สามารถปิดกรอบราคารูปธงได้เมื่อวันศุกร์ซึ่งปกติแล้วรูปนี้จะแสดงถึงการไปต่อในทิศทางเดิมของราคา แม้ว่าจากรูปจะมีแท่งเทียนรูปแบบดาวตกปรากฎ (ซึ่งเป็นสัญญาณของขาลง) แต่ก็ยังไม่แน่ชัดว่าฝ่ายไหนจะได้ตลาดไปครองจนกว่าจะปิดตลาดซื้อขายสหรัฐฯ ในวันนี้
นอกจาก S&P 500 แล้ว ดัชนีตัวหลักๆ อื่นๆ อย่างดาวโจนส์ก็สามารถทำผลงานได้อย่างน่าประทับใจเช่นกัน นอกจากจะเป็นขาขึ้นที่ดีที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคมปี 1987 แล้ว ดาวโจนส์ยังสามารถสร้างจุดสูงสุดตลอดกาลใหม่เหนือ 30,000 จุดได้อย่างเป็นทางการครั้งแรก ดัชนี NASDAQ Composite ตลอดทั้งเดือนพฤศจิกายนสามารถทำผลงานขาขึ้นได้เกือบ 12% ส่วน Russell 2000 ปรับตัวขึ้นอีก 0.56% สร้างประวัติศาสตร์ไม่ต่างจากดัชนีใหญ่ๆ ที่กล่าวถึงไปก่อนหน้านี้เลย
แต่ที่น่าสังเกตก็คือว่านี่คือขาขึ้นที่เกิดในช่วงเวลาตลาดหุ้นเปิดทำการ 3 วันเท่านั้น อาจจะมีบ้างที่เข้ามาในช่วงวันหยุดแต่โดยรวมแล้วก็มีกำลังซื้อขายอยู่ในตลาดเพียง 60% เท่านั้นซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อการนำมาอ้างอิงว่าเป็นตัวแทนของแนวโน้มขาขึ้นทั้งหมดได้ ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น นักลงทุนต้องไม่มัวแต่หลงระเริงอยู่ในบรรยากาศของข่าวดี เพราะในความเป็นจริงเรายังไม่ได้เห็นวัคซีนต้านโควิดจากบริษัทไหนทั้งนั้นในขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อโควิดทั่วโลกมีมากกว่า 62.3 ล้านคนและมีผู้เสียชีวิตเกิน 1.45 ล้านคน ถึงแม้สถานการณ์ในยุโรปจะดีขึ้นบ้างแต่ยอดผู้ติดเชื้อในประเทศเยอรมันก็สามารถทะลุเกิน 1 ล้านคนได้เป็นที่เรียบร้อย
Investing อยากให้ผู้อ่านของเรามองความเป็นจริงในมุมมองที่มีมากกว่าบรรยากาศของความยินดี เรากำลังอยู่ในโลกที่ตลาดหุ้นปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจจากที่เราสามารถสัมผัสได้เองรอบตัวเรากำลังดิ่งลงเหวไปเรื่อยๆ จนตอนนี้แยกไม่ออกแล้วว่าการตกต่ำทางเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงหรือแย่กว่าปี 1930 แม้จะมีข่าวดีเรื่องวัคซีนมาก็จริง แต่ก็ยังมีปัญหาในเรื่องของความสามารถในการแจกจ่ายให้ทั่วทั้งโลกและระยะเวลากว่าจะไปถึงจุดนั้นๆ มีเพียงความไม่แน่นอนเรื่องเดียวที่ถูกนำออกจากตลาดไปแล้วนั้นก็คือการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่น่าจะได้รัฐบาลของโจ ไบเดนขึ้นมาบริหารต่อจากโดนัลด์ ทรัมป์ในปีหน้า
นอกจากนักลงทุนจะเข้าไปถือหุ้นสหรัฐฯ มากขึ้น พวกเขายังเข้าไปถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อหวังผลตอบแทนเพิ่มขึ้นด้วย
จากรูปจะเห็นว่ากราฟผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีปรับตัวขึ้นอยู่ในกรอบที่ลากมาตั้งแต่จุดต่ำสุดของเดือนสิงหาคม ตอนนี้กราฟกำลังพยายามที่จะผ่านแนวต้านจากเส้นค่าเฉลี่ย 50 สัปดาห์และจุดสูงสุดในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม การทะลุขึ้นยืนเหนือ 1.00% ได้จะเป็นการยืนยันว่ากราฟได้สร้างจุดต่ำสุดล่าสุดใหม่เรียบร้อยแล้ว
กราฟดัชนีดอลลาร์สหรัฐยังคงอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว กราฟได้ปรับตัวลงอีกเกือบ 0.2% มีราคาปิดใกล้กับจุดต่ำสุดของวันที่ 27 เมษายนปี 2018
แนวรับเดียวที่เหลืออยู่ในตอนนี้คือจุดต่ำสุดของวันที่ 1 พฤศจิกายนที่บริเวณปลายของไส้เทียนรูปค้อน (Hammer) การทะลุแนวรับนี้ลงไปจะเป็นการยืนยันว่าการพักตัวของขาลงได้สิ้นสุดลงแล้ว เตรียมหาแนวรับปลอดภัยใหม่ได้เลย
ในขณะที่ดัชนีดอลลาร์สหรัฐกำลังวัดว่าจะลงหรือไม่ลงดี แต่ทองคำไม่ขอรอแต่ล่วงหน้าหลุด $1800 ลงต่ออีกแล้ว
ขาลง 1.24% เมื่อวันศุกร์ถือว่ามีนัยสำคัญมากเนื่องจากเป็นการทะลุแนวรับของเส้นค่าเฉลี่ย 200 วันลงมาได้สำเร็จ แม้ในระยะยาวเราจะมองว่าทองคำยังอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น แต่สำหรับตอนนี้และระยะกลางคงต้องมองลงเอาไว้ก่อน เราคาดว่าทองคำอาจจะสามารถลงไปทดสอบแนวรับที่ระดับราคา $1,700 ได้เลยก่อนที่จะตัดสินใจมองใหม่ว่าราคาจะยังมีโอกาสกลับเป็นขาขึ้นได้อีกหรือไม่
นอกจากดัชนีดอลลาร์สหรัฐกับทองคำแล้ว ราชาสกุลเงินดิจิทัลอย่างบิตคอยน์ก็ขอตามแนวโน้มขาลงด้วยอีกตลาด ถึงจะเป็นขาขึ้นที่แข็งแกร่งเพียงใด แต่ก็เป็นธรรมดาของนักวิ่งที่จะต้องมีการแวะพักกันบ้าง เมื่อราคาบิตคอยน์ขึ้นไปถึงกรอบราคาด้านบน เราก็ได้เห็นการเทขายอย่างรุนแรงของนักลงทุนทันที
ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ขาลงของบิทคอยน์จะเกิดขึ้นอย่างไม่มีเหตุผล นอกเหนือจากเรื่องของการชนกรอบเทรนด์ไลน์ด้านบนแล้ว อินดิเคเตอร์อย่าง MACD และ RSI ก็ได้อยู่ในโซน overbought มานานแล้ว ขาขึ้นที่ตามมาในช่วงหลังมีแต่กลุ่มแมงเม่าทั้งนั้นเพราะเหล่าปลาวาฬ (ผู้ถือบิตคอยน์รายใหญ่) ได้ออกจากตลาดไปตั้งแต่บิตคอยน์ขึ้นมาถึง $19000 แล้ว
สำหรับตลาดซื้อขายน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ไม่มีข่าวไหนจะน่าสนใจไปมากกว่าผลการประชุมของกลุ่มโอเปกพลัส เพราะนอกจากจะเป็นวันตัดสินว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่จะเลื่อนเวลาการเพิ่มกำลังการผลิตออกไปไกลเท่าไหร่ระหว่าง 3 เดือนกับ 6 เดือน เรายังจะได้เห็นการประเมินสถานการณ์โควิดล่าสุดกับปริมาณน้ำมันดิบในตลาดจากทางกลุ่มด้วย
แม้จะมีความกังวลอยู่ในตลาดก็จริง แต่จะเห็นได้ว่าขาขึ้นของราคาน้ำมันดิบอยู่ได้เพราะข่าวดีของวัคซีนที่หวังว่าจะมาช่วยแก้ไขสถานการณ์อุปสงค์น้ำมันทั่วโลกหดหาย การชะลอตัวจนปิดเป็นลบของราคาน้ำมันดิบเมื่อวันศุกร์ทำให้ตลอดทั้งสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้น 1.2% จบสถิติขาขึ้นสี่สัปดาห์ติดต่อกันเป็นที่เรียบร้อย
ข่าวเศรษฐกิจสำคัญประจำสัปดาห์ (เวลาทั้งหมดคำนวณเป็น EST)
วันอาทิตย์
20:00 (ประเทศจีน) ดัชนี PMI ภาคการผลิต: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 51.4 เป็น 51.5
วันจันทร์
10:00 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขยอดขายที่อยู่อาศัยรอการจำนอง: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก -2.2% เป็น 1.0%
20:45 (ประเทศจีน) ดัชนี PMI ภาคการผลิตจากมหาลัยไซซิน: คาดว่าจะลดลงจาก 53.6 เป็น 53.5
22:30 (ออสเตรเลีย) รายงานการประชุมอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA): คาดว่าจะคงที่ 0.1%
วันอังคาร
03:55 (เยอรมัน) ดัชนี PMI ภาคการผลิต: คาดว่าจะคงที่ 57.9
03:55 (เยอรมัน) อัตราการว่างงาน: คาดว่าจะลดลงจาก -35K เป็น -5K
04:30 (สหราชอาณาจักร) ดัชนี PMI ภาคการผลิต: คาดว่าจะคงที่ 55.2
05:00 (ยูโรโซน) ดัชนีราคาผู้บริโภค: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก -0.3% เป็น -0.2%
08:30 (แคนาดา) รายงานตัวเลข GDP: คาดว่าแบบเดือนต่อเดือนจะลดลงจาก 1.2% เหลือ 0.9%
10:00 (สหรัฐฯ) ดัชนี PMI ภาคการผลิตโดย ISM: คาดว่าจะลดลงจาก 59.3 เหลือ 57.9
19:20 (ออสเตรเลีย) รายงานตัวเลข GDP: คาดว่าแบบไตรมาสต่อไตรมาสจะเพิ่มขึ้นจาก -7.0% เป็น 2.5%
วันพุธ
08:15 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขคาดการณ์การจ้างงานนอกภาคการเกษตรจาก ADP: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 365K เป็น 400K
10:30 (สหรัฐฯ) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก -0.754M เป็น 0.127M
วันพฤหัสบดี
04:30 (สหราชอาณาจักร) ดัชนี PMI ภาคการบริการ: คาดว่าจะคงที่ 45.8
10:00 (สหรัฐฯ) ดัชนี PMI ที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตจาก ISM: คาดว่าจะลดลงจาก 56.9 เป็น 56.6
19:30 (ออสเตรเลีย) รายงานตัวเลขยอดขายปลีก: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก -1.1% เป็น 1.6%
วันศุกร์
01:15 (อินเดีย) การตัดสินใจเกี่ยวกับการปรับอัตราดอกเบี้ย: คาดว่าจะคงที่ 4.00%
04:30 (สหราชอาณาจักร) ดัชนี PMI ภาคการก่อสร้าง: คาดว่าจะลดลงจาก 53.1 เป็น 52.0
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร: คาดว่าจะลดลงจาก 638K เป็น 500K
08:30 (แคนาดา) รายงานตัวเลขอัตราการจ้างงาน: คาดว่าจะลดลงจาก 83.6Kเป็น 57.5K