โลกของการลงทุนเปิดสัปดาห์แรกของเดือนพฤศจิกายนมาด้วยความร้อนแรงเพราะสิ่งที่นักลงทุนต้องให้ความสนใจเป็นอย่างมากคือการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในยุโรป การประกาศนโยบายการเงินจากสามธนาคารกลางและการรายงานตัวเลขการจ้างงานจากประเทศสหรัฐฯ แคนาดาและนิวซีแลนด์ แม้จะมีข่าวใหญ่และความไม่แน่นอนรออยู่มากมายแต่ดัชนีดาวโจนส์ก็ยังสามารถปิดบวกได้มากกว่า 400 จุดเมื่อคืนนี้ ในขณะเดียวกันสกุลเงินสำรองอันดับหนึ่งของโลกอย่างดอลลาร์สหรัฐก็ยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ เช่นยูโร เยน ขาขึ้นที่เกิดเมื่อคืนนี้ถือเป็นการทำใจดีสู้เสือและฝากความหวังเอาไว้กับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ช่วงเวลาแบบนี้ทำให้ฉัน (ผู้เขียน) นึกย้อนกลับไปถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2000 ระหว่างจอร์จ ดับเบิลยู บุช กับ อัล กอร์ ซึ่งตอนนั้นก็ไม่สามารถหาผู้ชนะได้จนกระทั่งถึงวันที่ 12 ธันวาคมเพราะต้องมีการนับคะแนนของรัฐฟลอริด้าใหม่ ครั้งนี้ผลการเลือกตั้งส่วนใหญ่จะมาจากการนับคะแนนผ่านทางจดหมายที่มีการใช้ในหลายๆ รัฐเช่นเพนซิลเวเนีย นอร์ทแคโรไลนาและวิสคอนซิน ข้อมูลที่น่าสนใจก็คือมีชาวอเมริกันมากกว่า 96 ล้านคนใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งผ่านจดหมายไปแล้ว และโจ ไบเดนที่ในช่วงแรกมีคะแนนนำประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เป็นอย่างมากกลับกลายเป็นว่าคะแนนของทรัมป์เริ่มกลับมาสู้ได้ในรัฐใหญ่ๆ ที่สำคัญ โพลสำรวจสุดท้ายระบุว่าจะถือเป็นเรื่องน่าประหลาดใจมากหากโลกจะได้ทราบผลการเลือกตั้งภายในวันศุกร์นี้
สิ่งหนึ่งที่มั่นใจได้ว่าจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนคือความผันผวนในตลาดลงทุนที่จะเกิดขึ้นตลอด 48-72 ชั่วโมงนับจากวินาทีที่ตลาดลงทุนฝั่งสหรัฐอเมริกาเปิดทำการ ในปี 2016 โพลระบุว่านางฮิลลารี่ คลินตันจะได้เป็นผู้ชนะแต่กลับกลายเป็นว่าผู้ชนะเป็นโดนัลด์ ทรัมป์ ตอนนั้นดัชนีดาวโจนส์ร่วงลง 750 จุดในคืนดังกล่าว อย่างไรก็ตามในช่วงเช้าของวันพุธถัดมา ตลาดหุ้นสามารถเหวี่ยงกลับขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดใหม่ได้ ในตลาดฟอเร็กซ์ก็เช่นกัน วันนั้นกราฟ EUR/USD วิ่งขึ้นทีเดียว 300 จุดจาก 1.10 ขึ้นไปยัง 1.13 และวกกลับลงมาในวันพุธ 400 จุดเหลือ 1.09 ความผันผวนอย่างรุนแรงนี้เกิดขึ้นกับกราฟ USD/JPY ด้วยที่ร่วงลงจาก 105.47 ลงไปยัง 101.20 ก่อนจะสามารถวิ่งกลับขึ้นมายัง 106 ได้ในวันถัดมา
หลังจากผ่านวันเลือกตั้งโดยที่อาจจะยังไม่รู้ผลอย่างเป็นทางการมาแล้ว นักลงทุนไม่มีเวลาพักหายใจเท่าไหร่เพราะต้องเปลี่ยนความสนใจไปจับตาดูนโยบายการเงินจากธนาคารกลางต่อ ผลสำรวจจากนักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าธนาคารกลางออสเตรเลียจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาซึ่งก็เป็นจริงตามนั้นเมื่อเราได้เห็นตัวเลข 0.10% ไปแล้วในช่วงเช้าของวันนี้ อันที่จริงแล้วข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจของออสเตรเลียที่ผ่านมาไม่ได้เลวร้ายเท่าไหร่ กิจกรรมภาคการผลิตของเดือนตุลาคมฟื้นตัวดีมากเช่นเดียวกันกับตัวเลขการอนุญาตก่อสร้างและรายงานยอดโฆษณางานจากกลุ่มธนาคาร ANZ ประเทศออสเตรเลียสามารถจบการล็อกดาวน์ภายในระยะเวลาสองเดือนได้และยังไม่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อใหม่เป็นครั้งแรกในรอบห้าเดือน
ถึงกระนั้น สาเหตุที่ทำให้ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยจริงๆ แล้วเกิดจากความตึงเครียดทางการค้ากับจีน ล่าสุดประเทศจีนแบนการนำเข้าสินค้าอย่างเช่นไม้แปรรูป ข้าวบาร์เลย์ ทองแดง กุ้งล๊อบสเตอร์ น้ำตาลและอื่นๆ จากออสเตรเลีย นอกจากนี้ RBA ยังมองว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ออกมาดีไม่อาจเทียบเท่าได้กับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการล็อกดาวน์ในช่วงสองเดือนนั้น ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ RBA มีแผนที่จะทำ QE ด้วยการซื้อสินทรัพย์เพิ่มอีกเป็นวงเงิน 100,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย
ผ่านไปแล้วกับการรายงานตัวเลขจากธนาคารกลางหนึ่งแห่ง ตอนนี้ก็เหลือการรายงานอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ที่คาดกันว่าจะมีการเพิ่มเงินกระตุ้นเศรษฐกิจและการรายงานอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินใดๆ เพิ่มเติม ท่ามกลางยอดผู้ติดเชื้อรายวันสูงสุดอยู่ที่ 99,000 ราย ข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ก็ยังออกมาดีได้เพราะรัฐบาลไม่คิดจะทำอะไรเพื่อควบคุมโควิดแล้ว ความสนใจของสหรัฐฯ ตอนนี้มุ่งไปที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีเพียงอย่างเดียว ข้อมูลจาก ISM เมื่อวานนี้เผยว่าตัวเลขดัชนี PMI ภาคการผลิตเติบโตเร็วที่สุดในรอบสองปี ข้อมูลนี้ทำให้นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าตัวเลขในภาคบริการก็จะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน นอกจากนี้รายงานตัวเลขดังกล่าวที่เกี่ยวกับภาคแรงงานก็สามารถเพิ่มกลับขึ้นมีตัวเลขเหนือ 50 ได้อีกครั้งซึ่งหมายความว่าบริษัทในสหรัฐฯ เลือกที่จะเพิ่มการจ้างงานมากกว่าที่จะลดการจ้างงานลง