ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเป็นวันที่สี่ติดต่อกันซึ่งถือเป็นการปรับตัวขึ้นที่นานที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน โรคระบาดไวรัสโคโรนาที่ทำให้เฟดต้องงัดมาตรเยียวยาทางเศรษฐกิจออกมาต่อสู้โดยแลกกับมูลค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐกำลังกลับมาเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญอีกครั้ง นาย Scott Gottlieb อดีตคณะกรรมการในองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) พึ่งออกมาเตือนว่าสหรัฐฯ อาจต้องเจอกับไวรัสระบาดรอบที่สองในช่วงที่เรากำลังมุ่งหน้าเข้าสู่ฤดูหนาว แม้ว่าตอนนี้สหรัฐอเมริกาจะมียอดผู้เสียชีวิตจากโควิดมากถึง 200,000 รายแล้วแต่ผู้เชียวชาญเชื่อว่าตัวเลขดังกล่าวจะยังสามารถเพิ่มขึ้นได้อีก
ความกังวลเกี่ยวกับโรคระบาดที่เป็นเหมือนธีมของการลงทุนในปีนี้ทำให้นักลงทุนโยกเงินไปยังสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างสกุลเงินดอลลาร์ แต่อีกเหตุผลหนึ่งดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในสัปดาห์นี้เกิดจากแถลงการณ์ต่อสภาคอนเกรสของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ นายเจอโรม พาวเวลล์ ในการประชุมเมื่อคืนวันอังคารเขาดูมีความมั่นใจมากขึ้นกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในตอนนี้ แต่สิ่งที่เรียกเสียงเฮได้จากนักลงทุนมากที่สุดคือแถลงการณ์จากประธานเฟดชิคาโกนาย ชาลีย์ อีแวนที่บอกว่าเฟดจะสามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ก่อนที่อัตราเงินเฟ้อจะขึ้นถึง 2%
อย่างไรก็ตามปัจจัยบวกเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นขาขึ้นระยะสั้น เพราะเราทราบดีว่าเฟดได้พิมพ์เงินออกมามากมายเพื่อพยุงเศรษฐกิจสหรัฐฯ เอาไว้ซึ่งในระยะยาวไม่ว่าอย่างไรดอลลาร์ก็ต้องอ่อนมูลค่าลง นักวิเคราะห์บางคนบอกว่าขาขึ้นครั้งนี้เป็นเพียงการย่อขึ้นมาเพื่อลงต่อ ในบทความนี้เราจะมาดูกันว่าการวิเคราะห์ทางเทคนิคมองอนาคตของสกุลเงินสำรองอันดับหนึ่งของโลกในตอนนี้ว่าเป็นเช่นไร
แม้ว่ากราฟดัชนีดอลลาร์จะสร้างจุดต่ำสุดล่าสุดในระยะสั้นไปแล้วแต่ตัวกราฟก็ยังคงวิ่งอยู่ในกรอบราคาขาลง เมื่อพิจารณารูปแบบแท่งเทียนเราจะเห็นว่ากราฟได้สร้างรูปแบบดาวตก (Shooting Star) ขึ้นมาซึ่งตามทฤษฎีแล้วแล้วรูปแบบนี้ชี้ให้เห็นว่าแรงเทขายกำลังสวนแรงขาขึ้นกลับมา นี่ขนาดว่าราคายังวิ่งขึ้นไปไม่ถึงกรอบราคาขาลงด้านบนก็หมดแรงแล้วหรือความแข็งแกร่งของดอลลาร์สหรัฐควรจะแกร่งได้มากกว่านี้?
ในสายตาของนักวิเคราะห์ทางเทคนิคหากจะให้ขาขึ้นระยะสั้นนี้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น กราฟดัชนีดอลลาร์สหรัฐจะต้องสามารถทะลุกรอบราคาขาลงนี้ออกไปให้ได้ก่อนเป็นสัญญาณเรียกความเชื่อมั่นแรก ถึงจะมองแบบนั้นแต่ในระยะกลางขาขึ้นรอบนี้ก็ยังน่าเป็นห่วงเพราะฝั่งขายยังมีเหตุผลให้เชื่อว่าหากขึ้นไปสูงกว่านี้จะเป็นการสร้าง Peak ใหม่และรอให้ปรับตัวลดลงต่อไปสร้าง Trough ใหม่ที่ต่ำกว่าจุดต่ำสุดล่าสุด
ดังนั้นขาขึ้นครั้งนี้ต้องขึ้นไปให้ถึงระดับราคา 98.00 ให้ได้เพื่อยืนยันการเป็นแนวโน้มขาขึ้นในระยะกลาง หากจะให้พูดอีกอย่างก็คือการเข้าถือดอลลาร์ในระยะสั้นตอนนี้มีความเสี่ยงว่าจะถูกโต้กลับจากแนวโน้มเก่าที่ยังมีปัจจัยหนุนแน่ๆ ด้วยเรื่องโควิดและเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าเพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจ เราไม่ได้หมายความว่าการลองเข้าซื้อในระยะสั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำแต่หากจะลงทุนแล้วนักลงทุนก็ต้องยอมรับความเสี่ยงที่รออยู่ข้างหน้าให้ได้
กลยุทธ์การเทรด
เทรดเดอร์ที่ไม่ชอบความเสี่ยง จะวางคำสั่งขายเมื่อกราฟสามารถลงไปต่ำกว่าจุดต่ำสุดของวันที่ 1 กันยายนที่ 91.75
เทรดเดอร์ที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง จะลองเสี่ยงเข้าซื้อหากว่ากราฟสามารถขึ้นไปถึงกรอบราคาขาขึ้นด้านบน (กรอบเส้นประสีเขียว) ได้
เทรดเดอร์ที่รับความเสี่ยงได้สูง จะเลือกวางคำสั่งขายไม่ว่ากราฟจะขึ้นไปชนกรอบราคาขาขึ้นด้านบนหรือกรอบราคาขาลงใหญ่ที่หุ้มกราฟอยู่อีกที จุดเข้าของนักลงทุนกลุ่มนี้อาจอยู่ใกล้กับบริเวณเดียวกับแท่งเทียนดาวตก อย่างไรก็ตามนักลงทุนกลุ่มนี้คือผู้ที่สามารถยอมรับความเสี่ยงได้อยู่แล้ว
ตัวอย่างการเทรด
- จุดเข้า: 94.00
- Stop-Loss: 94.25
- ความเสี่ยง: 25 จุด
- เป้าหมายในการทำกำไร:93.00
- ผลตอบแทน: 100 จุด
- อัตราความเสี่ยงต่อผลตอบแทน: 1:4