ขอขอบคุณภาพประกอบจาก: CQC
- ค่าส่วนต่างในระหว่างดำเนินการคือตัวบ่งชี้ความต้องการน้ำมันแบบเรียลไทม์
- ราคาน้ำมันดิบฟื้นตัวแต่ผลต่างระหว่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปยังคงต่ำ
- ราคาน้ำมันวิ่งลงตามตลาดหุ้นในขณะที่ค่าส่วนต่างจากการกลั่นยังชี้ให้เห็นถึงความอ่อนแอ
- หากประวัติศาสตร์ซ้ำรอยจริงอาจสนับสนุนให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นได้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
ตลาดน้ำมันดิบของโลกเป็นตลาดลงทุนที่มีความอ่อนไหวและซับซ้อนมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอันเนื่องมาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจหลายอย่างเช่นภูมิศาสตร์การเมือง ปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยทางเทคนิค แต่สิ่งที่นักลงทุนในตลาดใช้บ่งชี้อุปสงค์อุปทานในตลาดน้ำมันว่ามีการเกินดุลหรือขาดดุลมากแค่ไหนคือผลต่างระหว่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงมาร์จิ้นและค่าดำเนินการที่ใช้ในการกลั่นน้ำมันของบริษัทผู้กลั่นน้ำมันดิบก่อนจะกลายมาเป็นน้ำมันปิโตรเลียม น้ำมันเบนซิน หรือพลังงานอื่นๆ ให้เราได้ใช้
ส่วนต่างของคุณภาพและแหล่งกำเนิดของน้ำมันมีผลต่อราคาไม่ต่างอะไรกับการที่ตลาดมักจะเปรียบเทียบน้ำมันดิบเบรนท์และ WTI ที่ใช้เป็นมาตรฐานน้ำมันดิบโลก น้ำมันดิบเบรนท์เหมาะกับการนำไปกลั่นเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่นได้มากกว่าในขณะที่ WTI มีค่าซัลเฟอร์ต่ำกว่าทำให้เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับการทำเป็นน้ำมันเบนซิน
เมื่อน้ำมันดิบได้เข้าสู่กระบวนการกลั่น ผลต่างระหว่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปคืออีกหนึ่งปัจจัยที่สามารถบอกถึงระดับแนวต้านของราคาน้ำมันดิบได้ ในช่วงหลายเดือนที่ราคาน้ำมันดิบเริ่มจะฟื้นตัวกลับมาได้เรากลับพบว่าค่าผลต่างนี้ยังไม่ได้ฟื้นตัวตามราคาน้ำมันดิบซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณบ่งบอกสำคัญให้กับนักลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทพลังงาน
ค่าส่วนต่างในระหว่างดำเนินการคือตัวบ่งชี้ความต้องการน้ำมันแบบเรียลไทม์
ผลต่างระหว่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปสามารถบอกให้นักลงทุนทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตลาด ณ เวลานั้นๆ (เรียลไทม์) ได้สองแบบ หนึ่งคือน้ำมันเป็นส่วนประกอบหลักในการกลั่นเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงหรือผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่นได้ ดังนั้นมันจึงสามารถใช้เป็นมาตรวัดความต้องการผลิตภัณฑ์จากการกลั่นและน้ำมันดิบได้
ค่าส่วนต่างนี้ยังเป็นตัวที่ใช้วัดผลกำไรแบบวันต่อวันของบริษัทโรงกลั่นเนื่องจากความต่างของอุณหภูมิมีผลต่อการสร้างผลิตภัณฑ์จากน้ำมัน ยิ่งผลต่างระหว่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปสูงมากเท่าไหร่ยิ่งเป็นตัวบอกเราว่าโรงกลั่นได้กำไรเพิ่มขึ้นมากเท่านั้นซึ่งหมายความว่าความต้องการน้ำมันก็จะต้องเพิ่มขึ้นด้วย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2020 นั้นต่างกันออกไป การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาทำให้ความต้องการน้ำมันลดลงซึ่งส่งผลให้ผลต่างนี้แคบลงมาด้วย ดังนั้นความต้องการผลิตภัณฑ์จากน้ำมันดิบและผลกำไรที่โรงกลั่นควรจะได้จึงลดลง เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงไม่สามารถกลับมาเป็นอย่างเดิมได้
ราคาน้ำมันดิบฟื้นตัวแต่ผลต่างระหว่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปยังคงต่ำ
ราคาน้ำมันดิบนั้นปรับตัวขึ้นมาจากจุดต่ำสุดในช่วงปลายเดือนเมษายน สัญญาซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้าในตลาด NYMEX ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่จุดต่ำกว่าศูนย์ในวันที่ 20 เมษายนจนขึ้นมาถึง $40 ต่อบาร์เรล ราคาซื้อขายน้ำมันดิบเบรนท์ล่วงหน้าขึ้นมาจาก $16 (จุดต่ำสุดในทศวรรษนี้) ขึ้นมายืนเหนือ $40 ต่อบาร์เรลได้จนถึงสัปดาห์ที่แล้ว แต่เมื่อกลับไปดูว่าความผันผวนของราคาน้ำมันดิบส่งผลอย่างไรกับผลต่างระหว่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปเราพบว่าค่าส่วนต่างนั้นยังอยู่ต่ำกว่าราคาน้ำมันในปัจจุบันเสียอีก
กราฟผลต่างระหว่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่แปลงเป็นน้ำมันเบ็นซินด้านบนแสดงภาพกรอบการเทรดในปี 2020 ระหว่างจุดติดลบ $3.85 ขึ้นมายังจุดสูงสุด $24.65 ต่อบาร์เรล จุดต่ำสุดนั้นเกิดขึ้นเมื่อความต้องการน้ำมันหายไปในช่วงเดือนมีนาคมในขณะที่จุดสูงสุดเกิดขึ้นตอนที่ราคาน้ำมันลงไปต่ำกว่าลบ $40 ต่อบาร์เรลในวันที่ 20 เมษายน ในช่วงก่อนจะถึงปลายสัปดาห์ที่แล้วกราฟผลต่างระหว่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่แปลงเป็นน้ำมันเบ็นซินได้ปรับตัวลดลงแต่ยังคงวิ่งอยู่ในกรอบราคา $13.34 และ $7.48
กราฟผลต่างระหว่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่แปลงเป็นน้ำมันให้ความร้อนเช่นน้ำมันดีเซลหรือน้ำมันเจ็ตมีกรอบการวิ่งของราคาในปี 2020 อยู่ระหว่าง $33.39 - $7.20 ต่อบาร์เรล แต่เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้วกราฟได้ปรับตัวลดลงต่ำกว่ากรอบการวิ่งของราคาปีที่แล้วระหว่าง $26.10 - $21.09 ต่อบาร์เรล สาเหตุของการปรับตัวลงครั้งนี้เกิดขึ้นมาจากความต้องการน้ำมันในธุรกิจการบินที่ยังไม่ฟื้นตัวและสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่กลับมาหนึ่งร้อยเปอร์เซนต์จากพิษโควิด-19
ราคาน้ำมันวิ่งลงตามตลาดหุ้นในขณะที่ค่าส่วนต่างจากการกลั่นยังชี้ให้เห็นถึงความอ่อนแอ
ในช่วงระหว่างวันที่ 30 มิถุนายนไปจนถึงวันที่ 8 กันยายนพบว่าราคาซื้อขายน้ำมันดิบ WTI ล่วงหน้าในตลาด NYMEX มีราคาอยู่ที่ประมาณ $39 ก่อนที่จะสามารถกลับขึ้นไปยืนเหนือ $40 ได้อีกครั้งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ในขณะที่ราคาซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้ากลับขึ้นมาได้แต่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับปรับตัวลดลง
แม้ว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะสามารถวิ่งขึ้นสูงได้มากเพียงใดแต่ก็ต้องปรับตัวตามธรรมชาติของกลไกตลาดซึ่งในขณะเดียวกันนั้นกราฟราคาน้ำมันดิบล่วงหน้าที่จะส่งมอบในเดือนตุลาคมกลับวิ่งลงไปยังจุดต่ำสุด $36.13 ในวันที่ 8 กันยายนโดยมีแนวรับถัดไปอยู่ที่ $35.25 จากพฤติกรรมราคาที่วิ่งลงตามกันจึงสามารถบอกได้ว่านี่คือเป็นสัญญาณเตือนมาถึงนักลงทุนในตลาดน้ำมันดิบว่าการปรับตัวลดลงของค่าส่วนต่างคือสัญญาณของเศรษฐกิจที่อ่อนแอ
หากประวัติศาสตร์ซ้ำรอยจริงอาจสนับสนุนให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นได้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
สำหรับราคาน้ำมันเบนซินในตอนนี้คงต้องบอกได้แต่ว่าเราได้ผ่านช่วงที่มีความต้องการน้ำมันเบนซินสูงสุดอย่างหน้าร้อนมาแล้ว ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจหากว่าจะได้เห็นราคาน้ำมันเบนซินและค่าการกลั่นมีราคาลดลงในช่วงกลางเดือนกันยายน แต่กลับค่าส่วนต่างของน้ำมันที่ให้ความร้อนนับเป็นอีกเรื่องหนึ่งเพราะน้ำมันตัวนี้สามารถบอกถึงความอ่อนทางทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกในภาพรวมได้
เพราะโรคระบาดคือความเสี่ยงหลักและโดยธรรมชาติแล้วจะทำให้ราคาน้ำมันกับสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้น เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจธนาคารกลางทั่วโลกจึงไม่มีทางเลือกนอกจากต้องต่อสู้กับภัยพิบัตินี้ด้วยการพิมพ์เงินเพิ่มเพื่อเสริมสภาพคล่องและกระตุ้นเศรษฐกิจแม้ว่าผลกระทบที่ตามมาอาจหมายถึงปัญหาเงินเฟ้อก็ตาม ในสงครามครั้งนี้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ถึงกลับยอมปล่อยให้อัตราเงินเฟ้อขึ้นเกินกว่า 2% บ้างเป็นครั้งคราวทั้งๆ ที่ปกติแล้วเฟดไม่เคยปล่อยให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นเกินกว่า 2% เลยนับตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมา
นโยบายดังกล่าวของเฟดทำให้ดอลลาร์อ่อนมูลค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่นๆ ทั่วโลกและยังเป็นปัจจัยหนุนให้กับราคาน้ำมันดิบและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ด้วย ในโลกของการลงทุนมักมีคำพูดว่า “สิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตมักจะวิ่งมาซ้ำรอยเดิม” ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่ราคาน้ำมันจะปรับตัวขึ้นหลังจากปีนี้เหมือนอย่างที่เคยเกิดวิกฤตการเงินปี 2008 ตอนนั้นราคาน้ำมันดิบ WTI เคยลงไปยังจุดต่ำสุดที่ $32.48 ก่อนที่จะกลับขึ้นมามีมูลค่ามาถึง $100 ในปี 2011
หากว่าตลาดน้ำมันดิบจะใช้โมเดลการวิ่งในระหว่างปี 2008-2011 เป็นต้นแบบของปี 2020 นี้จริง กราฟส่วนต่างของน้ำมันทั้งหลายที่ได้กล่าวถึงไปในบทความนี้ก็อาจจะขึ้นตามไปด้วย ในปี 2011 กราฟส่วนต่างของน้ำมันเบนซินเคยขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดไว้ที่ $40 ต่อบาร์เรลและมีจุดต่ำสุดอยู่ที่เกือบลบ $16 ในปี 2008 ในขณะที่กราฟส่วนต่างของน้ำมันที่ให้ความร้อนมีจุดสูงสุดอยู่ที่ $42 ต่อบาร์เรลในปี 2011 และมีจุดต่ำสุดอยู่ที่ $2.42 ในช่วงไตรมาสสองปี 2009
โดยสรุปแล้วนักลงทุนในน้ำมันดิบควรจับตาดูความเคลื่อนไหวของกราฟผลต่างระหว่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปเอาไว้ด้วยเพราะกราฟทั้งสองสามารถใช้เป็นตัววัดความต้องการน้ำมันดิบได้