กราฟดอลลาร์สหรัฐเทียบยูโร เยนและดอลลาร์นิวซีแลนด์ต่างพากันวิ่งลงไปสร้างจุดต่ำสุดใหม่เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ไม่ได้ช่วยพยุงสกุลเงินดอลลาร์ให้ยืนได้เมื่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาลัยมิชิแกนประจำเดือนกันยายนดีขึ้นแต่ตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลเป็นไตรมาสที่สองติดต่อกัน การที่ตัวเลขจากมหาลัยมิชิแกนออกมาดีได้สร้างความประหลาดใจให้กับนักลงทุนในตลาดเล็กน้อยเพราะตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงและชาวอเมริกันหลายคนไม่สามารถเข้าถึงสิทธิพิเศษยืดระยะเวลาเงินเยียวยาที่พึ่งจะหมดอายุลงได้อีกแล้ว
อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าตลาดลงทุนตั้งความหวังไว้กับข่าวดีของความคืบหน้าการผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 มากแค่ไหน มากถึงขนาดทำให้ตลาดหุ้นไม่ปรับตัวลดลงมาทั้งที่มีปัจจัยเสี่ยงอยู่ล้อมรอบแต่กับดอลลาร์กลับโดนเทขายอย่างมีนัยสำคัญซึ่งสามารถสังเกตได้จากการที่กราฟ USD/JPY ร่วงลงไปยังจุดต่ำสุดในรอบ 1 ปีโดยใช้ระยะเวลา 5 วันติดต่อกัน อ้างอิงข้อมูลจากหนึ่งในสมาชิกธนาคารกลางสหรัฐฯ นายนีล แคชคาริ (Neel Kashkari) ที่ออกมาตอกย้ำแนวทางของเฟดว่าคงจะไม่มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกจนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะสามารถขึ้นแตะ 2% ได้ซึ่งก็จะใช้ระยะเวลาเป็นปี คำพูดของเขาสะท้อนให้เห็นว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ คงไม่มีแผนที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินไปอีกอย่างน้อยปีหรือสองปีข้างหน้า
นักลงทุนอย่างเราคงจะต้องอยู่กับเกมชักเย่อของสกุลเงินและตลาดหุ้นแบบนี้ต่อไปอีกนาน การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ทั่วโลกเริ่มชะลอตัว ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในยุโรปยังเพิ่มขึ้นและสหรัฐฯ อาจมีความเสี่ยงที่จะพบผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มอีกหากว่าโรงเรียนทั่วประเทศกลับมาเปิดตามปกติ แต่ตราบใดที่อัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับต่ำเช่นนี้ผู้คนก็จะไม่อยากฝากเงินและนำเงินเข้าไปอยู่ในตลาดหุ้นซึ่งนั่นทำให้โอกาสที่ตลาดหุ้นจะร่วงลงมายากขึ้นกว่าเดิม ถึงอย่างนั้นเราเชื่อว่าเมื่อถึงจุดๆ หนึ่งตลาดหุ้นก็จะต้องวิ่งลงตามกลไกธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขยับใกล้เข้ามาทุกที ตอนนี้เราเหลือเวลาไม่ถึงเจ็ดสัปดาห์แล้ว
การเพิ่มขึ้นของยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในยุโรปย่อมส่งผลกระทบต่อทิศทางกราฟและนักลงทุนใน EUR/USD แม้ว่าล่าสุดธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรป (ECB) จะยังคงเชื่อมั่นในภาพรวมทางเศรษฐกิจแต่หากมาตรการรัดกุมใหม่เป็นตัวขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจก็อาจทำให้ ECB ต้องเปลี่ยนมุมมองภาพรวมที่มีต่อตลาด ตอนนี้สิ่งที่ทำให้นักลงทุนยังเลือกถือเงินยูโรมากกว่าดอลลาร์เพราะนโยบายของ ECB ยังไม่ผ่อนคลายลงมากกว่าของเฟดและธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) นโยบายอัตราเงินเฟ้อของ ECB ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดเหมือนกับที่เฟดทำและเงินยูโรก็ยังไม่มีความเสี่ยงว่าจะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกเหมือนกับของ BoE
การลงทุนในฝั่งยุโรปสัปดาห์นี้ให้จับตาดูดัชนี PMI ของยูโรโซนเพราะการชะลอตัวในภาคการผลิตและบริการอาจเป็นสาเหตุทำให้กราฟ EUR/USD เปลี่ยนแนวโน้มได้ สกุลเงินปอนด์มีโอกาสเข้าสู่การปรับฐาน แม้ว่าตัวเลขยอดขายปลีกในเดือนสิงหาคมของสหราชอาณาจักรจะออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ แต่กราฟ GBP/USD มีปัจจัยในเรื่องของการออกจากยุโรปโดยไม่สำสนธิสัญญาใดๆ และการผ่อนคลายนโยบายทากงารเงินจาก BoE เป็นตัวหน่วงมูลค่าของปอนด์เอาไว้ไม่ให้ขึ้น ดังนั้นในสัปดาห์นี้ให้มองว่ากราฟ GBP/USD มีโอกาสวิ่งอยู่ในกรอบราคาแค่ 1.30 - 1.27 เอาไว้ก่อน
สำหรับสกุลเงินดอลลาร์ออสเตรเลียแม้จะมีข่าวดีในตลาดแรงงานมาหนุนแต่สกุลเงินกลับต้องเจอความเสี่ยงจนไม่กล้าปรับตัวขึ้นจากเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศออสเตรเลียและจีนกับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่ล่าสุดสหรัฐฯ พึ่งประกาศแบนห้ามใช้แอปพลิเคชันติ๊กตอก (TikTok) และวีแชท (WeChat) ในดินแดนของสหรัฐอเมริกา ปัจจัยเชิงลบดังกล่าวอาจกดดันจนทำให้กราฟ AUD/USD มีราคาปิดต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย SMA 20 วันได้ สกุลเงินดอลลาร์แคนาดาก็อ่อนมูลค่าลงเพราะตัวเลขยอดขายปลีกที่ออกมาต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์จากนักวิเคราะห์ ในทางตรงกันข้ามสกุลเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์กลับสามารถวิ่งขึ้นได้เป็นวันที่หกติดต่อกันจนขึ้นไปยังจุดสูงสุดในรอบห้าเดือน สาเหตุที่นิวซีแลนด์ดอลลาร์ทำเช่นนั้นได้เพราะรัฐบาลนิวซีแลนด์ได้ออกมาประกาศว่าไม่พบผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มเติมเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม นี่คือความสำเร็จที่มาจากความสามารถในการปราบปรามโควิด-19 ได้ถึง 2 ครั้งของรัฐบาลชุดนี้ หากเหล่าประเทศผู้มีอำนาจต้องการให้สกุลเงินของตนแข็งแกร่งก็ควรเอาวิธีการจัดการโควิดของนิวซีแลนด์เป็นเยี่ยงอย่าง