มีนักวิเคราะห์หลายสำนักคาดการณ์ว่าความต้องการน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้จะลดลงแต่ก็อย่างที่เห็นว่ากราฟไม่ได้สนใจการวิเคราะห์เหล่านั้นและยังมุ่งหน้าปรับตัวสูงขึ้นต่อไปเรื่อยๆ ในความเห็นของดิฉัน (คนเขียนบทความ) เราจะยังได้เห็นราคาน้ำมันดิบเบรนท์และWTI วิ่งอยู่ที่ระดับราคาประมาณ $40 ต่อบาร์เรลโดยที่เบรนท์อาจจะสามารถขึ้นสูงกว่าเดิมได้เล็กน้อย จนกว่าจะได้เห็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่มีนัยสำคัญมากกว่านี้เราถึงจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญในตลาดน้ำมันดิบโลก
ในระยะสั้นตลาดกำลังรอให้มีข่าวใหญ่เข้ามากระทบเศรษฐกิจโลกก่อนตลาดน้ำมันจึงจะยอมเปลี่ยนแปลงทิศทางการวิ่งของราคาแต่ในระยะยาวนั้นภาพความต้องการน้ำมันดิบยังคงเป็นอะไรที่คาดเดาได้ยาก ดังนั้นในบทความนี้เราจะมาดูกันว่ามีอะไรเกิดขึ้นในตลาดน้ำมันสัปดาห์นี้รวมถึงการประชุมของกลุ่มโอเปกที่พึ่งผ่านไปเมื่อวานว่าจะสามารถเปลี่ยนทิศทางราคาน้ำมันไปในทางใด
รายงานภาพรวมตลาดพลังงานจาก BP
บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของโลก BP (NYSE:BP) ได้เปิดเผยข้อมูลการประมวลภาพรวมของตลาดพลังงานในปี 2020 ออกมาเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ พาดหัวสำคัญที่ BP เลือกใช้คือทฤษฎีที่ว่าด้วยเรื่องของปริมาณความต้องการน้ำมันดิบโลกอาจผ่านจุดสูงสุดมาแล้วตั้งแต่ปี 2019 จากการคาดการณ์ของ BP กว่าจะได้เห็นความต้องการน้ำมันขึ้นสู่ระดับสูงสุดอีกอาจจะต้องรอไปจนถึงปี 2030
แต่ในฐานะผู้อ่านหากจะมองให้เป็นกลางเกี่ยวกับฉากทัศน์ของเศรษฐกิจโลกที่ BP พยายามจะนำเสนอ เราก็ต้องมีความเข้าใจก่อนว่าสิ่งที่ BP รายงานไม่ใช่การคาดการณ์จริงๆ รายงานฉบับนี้สรุปความต้องการน้ำมันดิบเอาเองโดยเปรียบเทียบกับแนวโน้มหลักของโลกที่กำลังเปลี่ยนเข้าสู่การใช้พลังงานทดแทนมากขึ้นและพยายามอธิบายให้เราเห็นภาพว่าจะไปถึงตรงจุดนั้นได้อย่างไร
บางประเด็นที่รายงานฉบับนี้ยกขึ้นมาพูดก็ยังเป็นเรื่องที่น่าสงสัย ยกตัวอย่างเช่นในทุกๆ ฉากทัศน์ที่ BP ประเมินออกมาล้วนแล้วแต่เชื่อว่ารัฐบาลจะมีโปรโมชันสนับสนุนการใช้งานพลังงานทดแทนในระดับเท่าเดิมต่อไปเรื่อยๆ เหมือนอย่างที่เป็นมาในช่วง 2-3 ปีก่อนหน้านี้ ความคิดนี้อาจมีส่วนถูกอยู่บ้างแต่ก็มีความเป็นไปได้ที่ภาครัฐอาจจะเลือกตัดงบในส่วนนี้เอาไปใช้อย่างอื่นมากขึ้นเพราะอย่างที่เห็นว่าเรากำลังประสบภัยโรคระบาดอยู่ ยิ่งไปกว่านั้นหากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งขึ้นมาก็ลืมไปได้เลยว่าทรัมป์จะสนับสนุนเรื่องรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามากขึ้นเพราะยังไงนโยบายของทรัมป์ก็เป็นเรื่องของทุนนิยมอยู่แล้ว
ข้อมูลจากรายงานของ BP ที่ประกาศออกมาถูกทำให้สอดคล้องเข้ากับแผนดำเนินธุรกิจของบริษัทตัวเองโดยที่เสนอแผนว่าจะมีการลดพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิลมากขึ้นซึ่งตอนนี้กำลังเป็นที่นิยมในบริษัทผู้ผลิตน้ำมันในทวีปยุโรป ดังนั้นนักลงทุนควรอ่านรายงานของ BP อย่างมีวิจารณญาณควบคู่ไปด้วยและไม่ควรเอาข้อมูลจาก BP มาตัดสินความต้องการน้ำมันดิบในอนาคต
รายงานของ BP นั้นเทียบไม่ได้เลยกับรายงานคาดการณ์จาก IEA, EIA, OPEC และ ExxonMobil (NYSE:XOM) เพราะบทความนี้ถูกออกแบบมาให้นักลงทุนที่ลงทุนอยู่กับ BP ซึ่งพวกเขาลงทุนปีละประมาณ $5000 ล้านเหรียญสหรัฐในการทำเทคโนโลยีที่ใช้ส่วนผสมของคาร์บอนน้อยลงและความพยายามตีตัวออกห่างจากพลังงานฟอสซิลและก๊าซธรรมชาติ
IEA และ OPEC เปลี่ยนการประเมินภาพรวมตลาดพลังงานใหม่
ในขณะเดียวกันสำนักงานพลังงานสากล (IEA) และองค์กรร่วมประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อการส่งออก (OPEC) ได้ลดตัวเลขคาดการณ์ความต้องการน้ำมันของโลกลงอีกครั้ง สาเหตุหลักที่โอเปกตัดสินเช่นนั้นเพราะไม่เห็นความต้องการน้ำมันฟื้นตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอีกแล้วในประเทศอินเดียและประเทศฝั่งอาเซียน
รายงานจาก IEA สอดคล้องกับข้อมูลของกลุ่มโอเปกที่ว่าความต้องการน้ำมันในเอเชียและอินเดียลดลงมากกว่าที่คิดไว้ ที่สำคัญพวกเขายังประเมินอีกด้วยว่าการท่องเที่ยวโดยเครื่องบินอาจจะแย่ลงไปยิ่งกว่านี้อีกในปี 2021 IEA คาดการณ์ว่าปริมาณความต้องการน้ำมันดิบโลกจะมีตัวเลขอยู่เพียง 91.7 ล้านบาร์เรลต่อวันและความต้องการน้ำมันจะลดลงไปจนถึงสิ้นปี 2020 แต่จากการที่ราคาในตลาดน้ำมันดูไม่ได้มีความเคลื่อนไหวอย่างมีนัยสำคัญอาจเป็นไปได้ว่าตลาดมองออกในสิ่งที่ IEA และโอเปกคาดการณ์เอาไว้อยู่แล้ว
ต่อให้โอเปกและ IEA จะคาดการณ์ความต้องการน้ำมันในเอเชียผิดก็ตามแต่เราก็ยังจะได้เห็นการใช้พลังงานน้ำมันลดลงในประเทศจีนตามที่ได้คุยกันในบทความของสัปดาห์ที่แล้ว กว่าประเทศจีนจะแก้ไขปัญหาการขนส่งที่ติดขัด ณ บริเวณท่าเรือหรือสามารถเพิ่มพื้นที่เก็บความจุน้ำมันได้ก็ต้องรอให้เข้าสู่ไตรมาสที่สี่เสียก่อน
ข้อมูลเบื้องต้นจาก GasBuddy และ IHS Markit ชี้ให้เห็นว่าการใช้พลังงานเชื้อเพลิงในสหรัฐอเมริกาลดลงนับตั้งแต่วันแรงงานที่ผ่านมาหรือประมาณ 1 สัปดาห์ครึ่งหนึ่งที่แล้ว เป็นไปได้ว่าอาจจะต้องรอให้ถึงวันขอบคุณพระเจ้าหรือช่วงเทศกาลในช่วงหน้าหนาวมาถึงก่อนจึงจะทำให้ปริมาณความต้องการน้ำมันดิบกลับคืนมาได้ แต่ปีนี้เราก็ไม่แน่ใจว่าครอบครัวส่วนใหญ่จะมีกำลังทรัพย์มากพอกลับไปหาพ่อแม่พี่น้องในภูมิลำเนาเดิมหรือไม่
อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบไม่ได้สนใจข้อมูลเชิงลบเหล่านี้ กราฟราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวขึ้นเกือบ 5% และสามารถขึ้นมาทดสอบระดับราคา $40 ได้ตั้งแต่วันพุธจากรายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของ EIA ที่ลดลง จนถึงตอนนี้ราคาน้ำมันดิบ WTI สปอตมีราคาซื้อขายอยู่ที่ประมาณ $41 ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์สามารถขึ้นยืนเหนือ $42 ต่อบาร์เรล แต่ถึงอย่างไรกราฟราคาน้ำมันดิบหลักทั้งสองตัวก็ยังไม่อาจวิ่งหลุดไปจากกรอบราคานี้ได้จนกว่าจะมีข่าวใหญ่เข้ามากระทบตลาดลงทุนจริงจัง
ในอนาคต OPEC+ จะลดกำลังการผลิตน้ำมันลงอีกหรือไม่
เมื่อวานนี้กลุ่ม OPEC+ มีการจัดการประชุมของคณะกรรมการร่วมตรวจสอบในระดับรัฐมนตรีของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันทางไกล (JMMC) เพื่อตรวจสอบปริมาณโควตาการผลิตน้ำมันของประเทศสมาชิกพร้อมทั้งการให้คำแนะนำและวางนโยบายเกี่ยวกับการปรับสมดุลราคาน้ำมันว่าควรจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ผลการประชุมเมื่อวานนี้ได้ข้อสรุปออกมาว่าซาอุดิอาระเบียพี่ใหญ่ของกลุ่มโอเปกได้สั่งให้หยุดการผลิตน้ำมันโดยจะยืดระยะเวลาชดเชยการผลิตน้ำมันไปจนถึงสิ้นปีนี้ ซาอุดิฯ เข้าใจดีว่าความต้องการน้ำมันในช่วงหน้าหนาวของประเทศจีนและฝั่งเอเชียจะเพิ่มขึ้นซึ่งจะเป็นโอกาสให้เก็บเกี่ยวผลกำไรจากเหล่าประเทศผู้ซื้อน้ำมัน
สิ่งที่ซาอุดิอาระเบียเป็นกังวลกับการควบคุมสมดุลของราคาน้ำมันก็คือเหล่าประเทศสมาชิกไม่ยอมลดโควตาการผลิตน้ำมันลงตามที่ให้สัญญากันไว้ ถึงแม้ว่าซาอุดิอาระเบียจะทราบถึงปัญหานี้ดีและได้พยายามแก้ไขปัญหาเหล่านี้ด้วยตัวเอง (ลดกำลังการผลิตน้ำมันลงเอง) แต่ก็ยังไม่มากพอเมื่อเทียบเท่ากับประเทศสมาชิกอื่นๆ อย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรต อิรัก หรือไนจีเรียที่ยังผลิตน้ำมันเกินโควตาอยู่ ยิ่งไปกว่านั้นการที่ฤดูหนาวกำลังใกล้จะมาถึงแล้วจะยิ่งทำให้การใช้งานน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติภายในประเทศซาอุดิอาระเบียลดลง