การประกาศนโยบายทางการเงินโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือว่าเฟด (FED) ในเวลาตี 1 ของวันนี้ตามเวลาประเทศไทยคือสิ่งที่นักลงทุนในตลาดให้ความสนใจมากที่สุดในสัปดาห์นี้ นักลงทุนอยากจะทราบว่าแถลงการณ์ที่ออกมาจะกระทบสกุลเงินดอลลาร์ขนาดไหน เมื่อวันจันทร์ดอลลาร์สหรัฐได้อ่อนมูลค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่นๆ เพราะตลาดคาดว่าเฟดอาจมีมาตรการอะไรมาทำให้ดอลลาร์อ่อนมูลค่าลงอีก แต่จากที่เห็นพฤติกรรมราคาในตลาดเมื่อวานทำให้เราทราบได้ว่านักลงทุนในตลาดมีความเห็นไม่ตรงกัน ดอลลาร์อ่อนมูลค่าลงเมื่อเทียบกับเยนแต่กลับแข็งค่าเมื่อเทียบกับยูโร สกุลเงินหลักอื่นๆ อย่างเช่นปอนด์ ดอลลาร์แคนาดา ดอลลาร์ออสเตรเลียและดอลลาร์นิวซีแลนด์ในตอนแรกก็เหมือนจะแข็งค่าสู้กับดอลลาร์แต่สุดท้ายก็มีราคาปิดที่ต่ำลง หมายความว่าเมื่อตลาดฝั่งสหรัฐฯ เปิด (ยกเว้นกราฟ USD/JPY) ยังมีนักลงทุนที่เชื่อมั่นในมูลค่าของดอลลาร์อยู่
สาเหตุที่มีคนกลับมาถือดอลลาร์ในช่วงนี้แน่นอนว่าไม่ใช่เพราะต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงแต่เป็นเพราะตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้ปรับตัวขึ้นมา 3 วันติดต่อกันแล้ว การปรับตัวขึ้นของกราฟผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ก็มีส่วนช่วยเล็กน้อย เราเชื่อว่าปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือการเพิ่มขึ้นของตัวเลขดัชนีภาคการผลิตโดยเอ็มไพร์ สเตต นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ตัวเลขว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 3.7 เป็น 6.9 แต่ตัวเลขจริงที่ออกมากลับกระโดดขึ้นไปถึง 17 ยอดผู้ติดเชื้อในนิวยอร์กที่อยู่ในระดับต่ำช่วยเพิ่มความเร็วในการฟื้นตัวของภาคการผลิตซึ่งถือว่าเร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 2018 การที่ยอดผู้ติดเชื้อในบางรัฐยังคงเพิ่มขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาแต่นิวยอร์กไม่มีข่าวว่าต้องล็อกดาวน์หรือมีมาตรการอะไรเพิ่มเติมหมายความว่าการฟื้นตัวจะยังคงดำเนินต่อไป
เมื่อพูดถึงการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในวันนี้อย่างแรกที่นักลงทุนคาดการณ์กันก็คือนโยบายทางการเงินของเฟดคงจะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอีกเช่นเคย สิ่งที่ตลาดจะให้ความสนใจจากการประชุมครั้งนี้คือการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศและการคาดการณ์ด้วยแผนภาพแบบจุดเพื่อระบุเป้าหมายอัตราดอกเบี้ย เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาเราต่างทราบกันดีว่านายเจอโรม พาวเวลล์ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ พึ่งประกาศกรอบการทำงานรูปแบบใหม่โดยอนุญาตให้อัตราดงินเฟ้อสามารถขึ้นเกิน 2% ได้บ้างเป็นครั้งคราวเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินไว้ ดังนั้นการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจและแผนภาพแบบจุดครั้งนี้จะสะท้อนให้เห็นว่าการตัดสินใจเมื่อเดือนสิงหาคมนั้นได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นเช่นไร หากเฟดพูดประมาณว่าภาพรวมของการเติบโตทางเศรษฐกิจยังดูดีจะทำให้ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
นับตั้งแต่การประชุมครั้งล่าสุดในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมการจับจ่ายใช้สอยและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่างก็ลดลง อัตราการเติบโตของการจ้างงานชะลอตัว แต่ตัวเลขเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยกลับออกมาดีขึ้น อ้างอิงข้อมูลจากผลสำรวจของสถาบันการจัดการอุปทานสหรัฐฯ (ISM) เผยว่าตัวเลขในภาคการผลิตนั้นเพิ่มขึ้นเร็วแต่ตัวเลขในภาคการบริการกลับคงที่ นี่คือสาเหตุหนึ่งที่อธิบายว่าทำไมตอนที่ประธานเฟดประกาศเริ่มการวางกลยุทธ์อัตราเงินเฟ้อใหม่ดอลลาร์ถึงได้แข็งค่าขึ้นแทนที่จะอ่อนมูลค่าลง นายเจอโรมยังบอกในแถลงการณ์วันนั้นอีกด้วยว่าถ้าไม่นับพื้นที่ที่กำลังประสบปัญหาผู้ติดเชื้อ ณ ขณะนั้นพื้นที่อื่นๆ มีอัตราการเติบโตที่แข็งแกร่งดีมาก ดังนั้นหากวันนี้ดอลลาร์จัปรับตัวขึ้นเพราะผลการประชุมจึงไม่ใช่เรื่องที่เหนือความคาดหมายแต่เฟดก็คงไม่บอกว่ามีอนาคตที่สดใสรอเราอยู่ หากตัวเลขในแผนภาพแบบจุดออกมาขึ้นไม่ถึงที่เฟดตั้งใจไว้ก็อาจทำให้ดอลลาร์ซึมๆ แต่ไม่ถึงกับร่วงและอาจปิดวันด้วยชัยชนะของดอลลาร์ ที่สำคัญรายงานตัวเลขยอดขายปลีกที่จะออกก่อนการประชุมอาจส่งผลต่อการคาดการณ์ผลการประชุมอัตราดอกเบี้ยด้วย
สกุลเงินที่ทำผลงานได้ดีที่สุดเมื่อวานนี้คือดอลลาร์นิวซีแลนด์ เยนและดอลลาร์ออสเตรเลีย ขาขึ้นของ NZD เกิดจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ออกมาดีขึ้น ส่วน AUD ได้แรงหนุนจากข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจของประเทศจีน ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของแคนาดาและสหราชอาณาจักรจะประกาศในวันนี้ซึ่งหากอ้างอิงข้อมูลจาก PMI แล้วพบว่าความกดดันเกี่ยวกับตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นในขณะที่ของแคนาดายังไม่มีมากเท่ากับของสหราชอาณาจักร อย่าลืมว่าสัปดาห์นี้เรายังมีผลการตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอเบี้ยของธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) อยู่ซึ่งข้อมูลที่ออกมาจะกระทบต่อสกุลเงินปอนด์มากกว่าข้อมูลทางเศรษฐกิจของแคนาดาที่จะกระทบต่อดอลลาร์แคนาดา