การประชุมเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรป (ECB) คือสิ่งที่นักลงทุนในความสำคัญมากที่สุดและมีความเสี่ยงมากที่สุดในสัปดาห์นี้ นักลงทุนค่อนข้างจับตามองการประชุมครั้งนี้เป็นพิเศษหลังจากที่ในช่วงระยะหลังๆ มาสกุลเงินยูโรไม่แข็งแกร่งอย่างแต่ก่อน อ้างอิงข้อมูลจากดัชนีค่าเฉลี่ยของการให้กู้ยืมที่ไม่มีหลักประกันทั้งหมดที่เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืนระหว่างตลาดระหว่างธนาคาร (Eonia) คาดการณ์ว่า ECB อาจจะลดอัตราดอกเบี้ยลงมาอีก 10 จุดเบสิสภายในปี 2021 ถามว่าเป็นไปได้ไหมที่ ECB จะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในปีหน้า? ก็เป็นไปได้แต่สำหรับการประชุมในวันนี้จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ความเป็นไปได้เดียวที่ ECB จะลดอัตราดอกเบี้ยลงมาเร็วที่สุด (ภายใน 3-6 เดือน) คือต้องเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบที่ 2 อย่างเต็มรูปแบบจนต้องกลับไปล็อคดาวน์ยูโรโซนอีกครั้ง เห็นอย่างนี้ไม่ใช่ว่าความเป็นไปได้นี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ จากการแพร่ระบาดในยุโรปปัจจุบันมีนักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าโอกาสที่จะกลับมาล็อคดาวน์มีมากถึง 50% แต่กว่าจะถึงตอนนั้น ECB จะยังไม่ทำอะไรที่เกินเลยอย่างแน่นอน
ถึงจะมองว่าโอกาสที่เศรษฐกิจยุโรปจะไปถึงจุดที่แย่ที่สุดนั้นเกิดขึ้นได้ยากแต่ตอนนี้นางคริสตีน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรปก็มีเหตุผลมากพอหากต้องการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินเพิ่มเติมไม่ว่าจะเป็น ยุโรปกำลังอยู่ในความเสี่ยงที่การแพร่ระบาดจะขยายวงกว้างขึ้นจนเป็นการระบาดรอบที่ 2 การเจรจา Brexit ไม่มีความคืบหน้าและสถานการณ์ยังแย่ลงกว่าเดิม แม้สกุลเงินยูโรโดยรวมจะยังแข็งแกร่งดีแต่อัตราการเติบโตนั้นชะลอตัวลงและอัตราเงินเฟ้อก็อยู่ในระดับต่ำ กว่าจะผ่านไตรมาสที่ 2 มาได้เศรษฐกิจในยูโรโซนเองก็สะบักสะบอมพอสมควรและยิ่งไตรมาสที่ 3 ที่ทุกคนหวังไว้ว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นกว่าไตรมาสที่ 2 (ตัวเลขกิจกรรมทางเศรษฐกิจในทุกภาคส่วนดีขึ้นหมดยกเว้นอัตราเงินเฟ้อ) แต่กลับกลายเป็นว่ามาโดนปัญหาโควิดซ้ำและทำให้ความเสี่ยงที่มีต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น จากปัจจัยที่เกิดขึ้นนี้จึงทำให้นักวิเคราะห์บางส่วนไม่เชื่อข้อมูลตัวเลขจากดัชนี PMI ในเดือนสิงหาคม
เพราะการเปลี่ยนกลยุทธ์เกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อใหม่ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในวันนี้นักลงทุนจึงหวังจะได้เห็น ECB ทำอะไรสักอย่างเหมือนกับที่เฟดทำ ปัญหาอัตราเงินเฟ้อตกต่ำถือเป็นปัญหาใหญ่ในยูโรโซนมาช้านานและแก้ได้ยากกว่าของสหรัฐอเมริกา ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของเยอรมันแบบปีต่อปีนั้นคงที่มานานและโดยส่วนใหญ่ตัวเลข CPI ที่ออกมามักจะถูกประเมินเป็นลบ แม้แต่ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อแบบปีต่อปีของเดือนสิงหาคมยังออกมาอยู่ที่ 0.4% ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดครั้งหนึ่งของการรายงาน สถานการณ์เช่นนี้อาจบีบให้ ECB จำเป็นต้องลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของอัตราเงินเฟ้อ การดีดตัวกลับขึ้นมาของสกุลเงินยูโรเมื่อวานนี้เกิดมาจากข่าวที่มีรายงานว่า ECB อาจจะแสดงความเชื่อมั่นที่มีต่อเศรษฐกิจมากกว่าที่ประเมินกันไว้ซึ่ง ECB จะอ้างอิงความแข็งแกร่งนั้นมาจากตัวเลข GDP ไม่ใช่อัตราเงินเฟ้อ หากว่าการประชุมในวันนี้ประธาน ECB แสดงความเป้นกังวลต่อเศรษฐกิจในยูโรโซน มีการปรับลดตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อลงมาจริงและประกาศว่าจะมีการดำเนินมาตรการทางการเงินบางอย่างภายในเดือนธันวาคม กราฟ EUR/USD อาจจะร่วงลงมาถึง 1.1650 แต่หากนางคริสตีน ลาการ์ยังมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจอยู่กราฟ EUR/USD ก็อาจสามารถกลับขึ้นไปยืนเหนือ 1.1850 ได้
การดีดตัวกลับขึ้นมาของตลาดหุ้นสหรัฐฯ และกราฟผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ช่วยให้กราฟ USD/JPY สามารถกลับขึ้นไปยืนเหนือระดับราคา 106 ได้อีกครั้ง ที่ผ่านมากราฟ USD/JPY วิ่งอยู่ในกรอบราคาแคบๆ ระหว่าง 106.55 ถึง 105.80 เหมือนกับว่ากำลังรอให้ข่าวที่ส่งผลกระทบได้มากกว่านี้หรือสภาพคล่องในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่เพิ่มสูงขึ้นช่วยพากราฟหลุดกรอบไซด์เวย์นี้ขึ้นไป ถึงกระนั้นเพราะเราวิเคราะห์ว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะยังอยู่ในสภาวะการปรับฐานดังนั้นขาขึ้นของกราฟ USD/JPY จึงจะถูกจำกัดไว้ ถึงพรุ่งนี้จะมีรายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) และตัวเลขดัชนี PMI ภาคการผลิตจาก ISM ที่เชื่อว่าตัวเลขจะดีขึ้นออกมาแต่เพราะการตัดสินใจเปลี่ยนกลยุทธ์อัตราเงินเฟ้อของเฟดจึงทำให้ข้อมูลตัวเลขเหล่านี้ไม่สำคัญสำหรับนักลงทุน
สกุลเงินแคนาดาดอลลาร์ปรับตัวสูงขึ้นตามนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางแคนาดา (BoC) แบงก์ชาติแคนาดาทำตามที่เราคาดการณ์ไว้ได้อย่างน่าประทับใจไม่ว่าจะเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ดังเดิมรวมถึงแถลงการณ์ที่ระบุว่าเศรษฐกิจแคนาดากำลังฟื้นตัวได้ด้วยดี อย่างไรก็ตาม BoC มองว่ายังต้องมีมาตรการอื่นเพิ่มเติมมารองรับการฟื้นตัวอีกในอนาคตซึ่งประเด็นนี้ BoC มองไม่ต่างจากธนาคารกลางอื่นๆ พวกเขาหวังให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถเข้าสู่เฟสการกลับมาเปิดประเทศได้อย่างเต็มรูปแบบอีกครั้งโดยเร็วซึ่งจะนำไปสู่การกลับมาเป็นเหมือนช่วงก่อนโควิดให้ได้เร็วที่สุด การจะไปถึงจุดนั้นธนาคารกลางยังจำเป็นที่ต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอีก ในตอนนี้นโยบายทางการเงินกำลังทำหน้าที่ของตัวเอง ทำให้คนมีโอกาสใช้เงินเพื่อขยายที่อยู่อาศัย ลงทุนในธุรกิจและทำให้การกู้ยืมและคืนเงินมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สกุลเงินออสเตรเลียดอลลาร์และนิวซีแลนด์ดอลลาร์ฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้เพราะข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ดี การกู้สินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 8.9% มากกว่าตัวเลขคาดการณ์ถึง 4 เท่า ตัวเลขความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนกันยายนสามารถปรับตัวกลับขึ้นมาได้อย่างมากแม้ว่ารัฐวิคตอเรียจะถูกล็อคดาวน์อยู่ ส่วนประเทศนิวซีแลนด์พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจของ ANZ เพิ่มขึ้นจาก -41.8 เป็น -26 สกุลเงินปอนด์ยังคงช็อคไม่หายจากการเจรจา Brexit ที่แย่ลงกว่าเดิม