การสร้างจุดสูงสุดใหม่ตลอดกาลอย่างต่อเนื่องของ S&P 500 ทำให้นักลงทุนหันมาสนใจลงทุนในตลาดสหรัฐฯ มากขึ้นและนั่นคือหนึ่งในสาเหตุว่าทำไมดอลลาร์สหรัฐถึงแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่นๆ เมื่อวานนี้ยูโรและออสเตรเลียดอลลาร์ร่วงลงต่อดอลลาร์สหรัฐอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือน รายงานตัวเลขคาดการณ์การจ้างงานนอกภาคการเกษตรจาก ADP เมื่อวานนี้สร้างข่าวดีเสริมมูลค่าให้กับดอลลาร์เมื่อ ADP คาดว่าตัวเลขการจ้างงานในเดือนที่แล้วจะเพิ่มขึ้น 428,000 ตำแหน่งซึ่งถือว่ามากกว่าตัวเลขครั้งก่อนครึ่งหนึ่ง แม้จะขึ้นไม่ถึงตัวเลขคาดการณ์จนทำให้ดอลลาร์ถูกเทขายอยู่เป็นระยะเวลาหนึ่งแต่สุดท้ายนักลงทุนก็กลับมาเพราะตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นกันอย่างสนุกสนาน
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงทำให้เราคาดว่าต่อให้วันนี้รายงานตัวเลขดัชนี PMI ที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตโดย ISM ออกมาชะลอตัวซึ่งหมายถึงตัวเลขการจ้างงานที่ลดลงก็ไม่ส่งผลกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ยังเชื่อในตลาดหุ้นขาขึ้น ตลาดจะไม่สนใจปัจจัยเสี่ยงอย่างเช่นความเป็นไปได้ที่จะเกิดการแพร่ระบาดรอบที่ 2 ในช่วงเปิดปีการศึกษาตราบใดที่ดัชนีหลักๆ ของสหรัฐฯ ยังพากันขึ้นแบบไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจที่ออกมาเมื่อคืนนี้โดยรวมถือว่าเฟดพอใจ มาตรการเยียวยาเศรษฐกิจที่ใช้ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ตามที่เฟดคาดการณ์แม้ว่าในภาคธุรกิจยังมีสะดุดและต้องจับตาดูกันต่อ ภาคการผลิตและบริการคาดว่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ ด้วยแรงสนับสนุนแบบนี้จึงทำให้กราฟ USD/JPY สามารถปรับตัวขึ้นเป็นวันที่ 3 ติดต่อกันได้
ขาขึ้นที่สังเกตได้จากฝั่งดอลลาร์ทำให้่นักลงทุนกำลังจับตาดูว่ากราฟ EUR/USD จะสามารถลงมาถึง 1.18 เลยหรือเปล่า ตัวเลขยอดขายปลีกของเยอรมันในเดือนกรกฎาคมไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ของสกุลเงินยูโรดีขึ้น การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในยุโรปชะลอตัวมากกว่าที่ประเมินเอาไว้ วันนี้จึงต้องจับตาดูกันต่อว่าตัวเลขยอดขายปลีกของยูโรโซนจะออกมาในสภาพเดียวกันกับเยอรมันหรือไม่ สถานการณ์ในยูโรโซนเริ่มสร้างความกังวลให้กับนักลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่พวกเขาหวังว่าจะปิดออเดอร์ทำกำไร ณ 1.20 อาจจะต้องเปลี่ยนใจยอมทำกำไรที่บริเวณนี้แทน
อย่างไรก็ตามสกุลเงินที่ทำผลงานได้แย่ที่สุดเมื่อวานนี้ตกเป็นของออสเตรเลียดอลลาร์ เศรษฐกิจของออสเตรเลียในไตรมาสที่ 2 หดตัว 7% ซึ่งมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ -5.9% ที่จริงแล้วเราคาดว่าตัวเลขที่ออกมาจะหดตัวมากกว่า 7% ด้วยซ้ำแต่เพียง 7% ก็มากพอที่จะส่งออสเตรเลียดอลลาร์ให้ปรับตัวลดลง หลังจากที่ขึ้นมาทดสอบจุดสูงสุดในรอบ 1 ปีเมื่อวันจันทร์กราฟ AUD/USD ก็เริ่มใช้ระยะเวลาในการพักตัวนานกว่าที่ฝั่งขาขึ้นคาดการณ์ ก็ไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่เพราะตัวเลขกิจกรรมในภาคการผลิตที่ชะลอตัวและความตึงเครียดทางการค้าระหว่างออสเตรเลียกับจีนไม่ใช่ข่าวดีที่จะหนุนออสเตรเลียดอลลาร์ให้ปรับตัวขึ้นต่อได้
นิวซีแลนด์และแคนาดาดอลลาร์เอาตัวรอดจากขาขึ้นของดอลลาร์ได้เพราะข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศออกมาดี ตัวเลขทางการค้าของนิวซีแลนด์ดีขึ้นในขณะที่ภาคแรงงานของแคนาดาในไตรมาสที่ 2 สามารถตั้งตัวและกลับมาใช้ชีวิตทำงานตามปกติได้มากขึ้น ด้วยเหตุนี้แคนาดาดอลลาร์จึงไม่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลง 3% แต่เชื่อว่าอีกไม่นานกราฟ USD/CAD จะมีโอกาสลงไปใกล้กับ 1.30 ได้อีกครั้ง
สุดท้ายเรามาจบกันที่สถานการณ์ของสกุลเงินปอนด์ที่ปรับตัวลดลงตามสกุลเงินยูโรเนื่องจากสัปดาห์นี้มีข่าวอของปอนด์อยู่ในปฏิทินเศรษฐกิจน้อยมาก แต่ถึงกระนั้นข้อมูลตัวเลขในช่วงล่าสุดที่ออกมาไม่ว่าจะเป็นราคาที่อยู่อาศัยหรือการจำนองที่ได้รับการอนุมัติมีตัวเลขที่ดีขึ้น ดังนั้นเราจึงมองว่ากราฟปอนด์เทียบดอลลาร์จะทำเพียงพักตัวชั่วคราวที่บริเวณ 1.3150 เพราะต้องหลีกทางให้กับข่าวดีฝั่งสหรัฐฯ ที่ออกมาสนับสนุนดอลลาร์มากขึ้น