หลังจากที่รอคอยกันมาเนิ่นนานเรียกได้ว่าเกือบทศวรรษเลยก็ว่าได้ในที่สุดนักลงทุนทั่วโลกก็ได้เห็นราคาทองคำขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดใหม่เหนือ $1,800 ได้สำเร็จท่ามกลางความงุนงงของกองเชียร์ที่ไม่คิดว่าจะสามารถขึ้นเกิน $1,800 ได้ง่ายดายถึงเพียงนี้ จากสถานการณ์ปัจจุบันที่เป็นอยู่ทั้งปัญหาโควิด-19 ที่ยังไม่จบและธนาคารกลางโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ ที่ขยันปั้มเงินดอลลาร์ ออกมาอยู่เรื่อยๆ ยิ่งทำให้โอกาสที่ทองคำจะหลุดแนวต้าน $1,850 และขึ้นไปยังจุดสูงสุดตลอดกาลที่ $1,900 มีมากขึ้น
เมื่อวานนี้ราคาทองคำในตลาดซื้อขายล่วงหน้า COMEX พบว่ามีราคาอยู่ที่ $1,805 ซึ่งหมายความว่าเหลืออีกเพียง $100 จุดเท่านั้นที่ราคาทองคำล่วงหน้าจะสามารถกลับขึ้นไปยังจุดสูงสุดตลอดกาลเมื่อเดือนกันยายนปี 2011 ที่ $1,911.60 ได้ ส่วนราคาทองคำสปอตปัจจุบันมีจุดสูงสุดอยู่ที่ $1817.79 ห่างจากจุดสูงสุดตลอดกาล $1,920.85 เพียง $103.06
ด้วยธรรมชาติของราคาทองคำที่ทำหน้าที่เป็นสินทรัพย์สำรองปลอดภัยอันดับหนึ่งและเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์สูงที่สุดทำให้ช่องว่างระหว่างราคาเพียง $100 กว่าจุดสามารถปิดได้ภายในระยะเวลาเพียงวันเดียวหรือสองวันเท่านั้นในกรณีที่มีสถานการณ์พิเศษเกิดขึ้น แต่ในทางกลับกันหากว่ามีสถานการณ์ที่ส่งผลบวกต่อตลาดหุ้นอย่างฉับพลันก็อาจทำให้ราคาทองคำปรับตัวกลับลงมาอยู่ต่ำกว่า $1,800 ได้อย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน
ทุกครั้งที่มีความเชื่อในทางใดทางหนึ่งมากเกินไปย่อมจะมีคนรอสวนอยู่เสมอ
นายคริฟโตเฟอร์ เวคชิโอ นักวิเคราะห์อิสระซึ่งทำงานให้กับ Daily FX เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่าเทรดเดอร์รายย่อยจำนวน 66.57% มองว่าราคาทองคำมีโอกาสปรับลดลงด้วยอัตราส่วนระหว่างขาขึ้นและขาลงมีตัวเลขอยู่ที่ 1.99 ต่อ 1
“จำนวนของเทรดเดอร์ที่เชื่ออย่างสุดใจว่าทองต้องขึ้นต่อแน่ๆ มีเปอรเซนต์อยู่ที่ 4.29% ซึ่งลดลงจากเมื่อวันก่อนและ 1.45% ลดลงจากตัวเลขเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ในขณะที่เทรดเดอร์ที่มองว่าจะลงมี 1.98% ลดลงจากตัวเลขของเมื่อวานและ 6.12% ลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว”
เขายังกล่าวเสริมอีกว่า “เป็นเรื่องปกติที่เรามักจะได้เห็นมุมมองที่อยู่ในฝั่งตรงข้ามกับคนส่วนใหญ่ จากตัวเลขของผู้ที่เชื่อในขาขึ้นลดลงแสดงให้เห็นว่าราคาทองคำอาจมีโอกาสร่วงลงก่อนที่จะขึ้นไปไกลเกินกว่า $1,850”
แต่มุมมองที่คุณคริสโตเฟอร์มีต่อทองคำถือว่าน่าสนใจ เขาบอกว่า “ถ้าขาขึ้นจะต้องการป้องกันไม่ให้ทองคำกลับลงไปต่ำกว่า $1,748 วิธีที่จะทำให้สามารถมั่นใจได้คือหลังจากที่พาทองคำทะลุ $1,800 ขึ้นไปได้แล้วต้องรีบพาไปให้ถึง $1,821 ให้ได้เร็วที่สุด ผมมองว่าขาขึ้นยังมีภาษีดีกว่านะตราบใดที่เส้นค่าเฉลี่ย 5 EMA ยังไม่โดนเจาะลงมาซึ่งราคาทองคำไม่เคยกลับลงมาใกล้เส้นนี้เลยนับตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน”
"กรอบราคาขาขึ้น” คือสิ่งยึดเหนี่ยวของนักลงทุนสายกระทิง
ไม่ใช่เฉพาะคริสโตเฟอร์ที่เท่านั้นที่เชื่อว่าความแข็งแกร่งของ “กรอบราคาขาขึ้น” ของทองคำและมักจะคอยลุ้นให้ทองคำสามารถสร้างจุดสูงสุดใหม่ที่สูงขึ้นกว่าเดิมได้ในทุกๆ ปี นายอานุจ กัปตา รองประธานทีมวิจัยตลาดสกุลเงินและสินค้าโภคภัณฑ์ของบริษัท Angel Broking ประเทศอินเดียกล่าวว่า
“ราคาทองคำในตอนนี้เข้าใกล้จุดสูงสุดอันเป็นสถิติใหม่ของแต่ละปีมากขึ้นเรื่อยๆ และนักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าราคาทองคำจะไม่หยุดอยู่แค่นี้แน่ ภายในไม่กี่เดือนข้างหน้าเราอาจจะได้เห็นราคาทองคำทะยานขึ้นยืนเหนือจุดสูงสุดตลอดกาลที่ $1,921 ก็เป็นได้”
คริส เบียแชมป์ หัวหน้านักวิเคราะห์ตลาดของบริษัท IG แสดงความเห็นต่อราคาทองคำในตอนนี้ว่า “แม้ราคาทองคำก่อนหน้านี้จะวิ่งอยู่ในรูปแบบไซด์เวย์มาตลอดแต่ก็เป็นไซด์เวย์ของขาขึ้น ดังนั้นเราจึงไม่เชื่อว่าราคาทองคำจะอยู่ในแนวโน้มขาลงจนกว่าราคาจะสามารถลงไปต่ำกว่า $1,750 ได้”
เป้าหมายของราคาทองคำในอนาคต
เมื่อถามว่า “หากราคาทองคำสามารถขึ้นยืนเหนือ $1,800 ได้พวกคุณ (นักวิเคราะห์) คิดว่าราคาทองคำจะสามารถขึ้นไปได้ถึงไหน?” คำตอบที่นักวิเคราะห์จากสำนักดังๆ ตอบถึงกับทำให้พวกเราต้องประหลาดใจ
นักวิเคราะห์จาก Citigroup ได้ปรับเป้าหมายราคาทองคำในรอบ 3 เดือนของพวกเขาขึ้นเป็น $1,825 และในปี 2021 พวกเขาเชื่อว่าจะได้เห็นทองคำที่ราคา $2,000 นักวิเคราะห์จากโกลด์แมน แซคส์ก็เชื่อว่าทองคำจะแตะ $2,000 ได้เช่นกันในระยะกลาง
บางคนถึงกับคาดการณ์ไปไกลมากยกตัวอย่างเช่นนายแดน โป๊ปชู นักวิเคราะห์อิสระมองว่าเราจะได้เห็นราคาทองคำที่ $5,000 ภายในอีก 5 ปี ธนาคารสำหรับการลงทุนของแคนาดา TD Securities กล่าวว่ามีปัจจัยหนุนมากมายที่ส่งเสริมให้ราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้อีก
“ด้วยราคาพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของสหรัฐฯตกต่ำและธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงพิมพ์เงินออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 หรือยุคหลังจากโควิด-19 จะทำให้เราต้องเจอปัญหาเงินเฟ้อตามมาซึ่งนั่นทำให้นักลงทุนจะยิ่งหันไปถือทองมากยิ่งขึ้น เมื่อมองไปข้างหน้าในยุคหลังโควิดต่อจากนี้เราจะได้เจอปัญหาแบบเดียวกันกับหลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อธนาคารกลางก็ขยันกระตุ้นเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำก็จะยิ่งทำให้ความน่าเชื่อถือของเงินหมดลงไปอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเงินไม่มีค่าแล้วคนจะหันไปพึ่งอะไรได้นอกจากทองคำ”