- สัปดาห์ที่ผ่านมา แม้เศรษฐกิจทั่วโลกส่งสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ตลาดกลับกังวลยอดผู้ติดเชื้อ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (EM) ที่พุ่งสูงขึ้น
- ติดตามแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ พร้อมกับยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 โดยยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมที่แย่กว่าคาดและการระบาดที่ยังไร้การควบคุมจะกดดันให้ตลาดปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) มากขึ้นได้
- เงินดอลลาร์อาจเป็นที่ต้องการในระยะสั้น ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยง ส่งผลให้สกุลเงินอื่นๆ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ทั้งนี้เงินบาทจะไม่อ่อนค่าไปมาก เพราะมีแรงหนุนจากราคาทองคำที่อาจปรับตัวสูงขึ้นในสัปดาห์หน้า
- กรอบเงินบาท USD/THB สัปดาห์หน้า 30.70-31.20 บาท/ดอลลาร์
- ฝั่งสหรัฐฯ –ความสนใจของตลาดจะอยู่ที่แนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดแรงงานในเดือนมิถุนายน ซึ่งตลาดมองว่ายอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) จะเพิ่มขึ้นราว 3 ล้านราย ส่งผลให้อัตราการว่างงานลดลงเหลือ 12.4% สอดคล้องกับภาพกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คึกคักขึ้น หลังการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ขณะเดียวกัน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (ISM Manufacturing PMI) ก็จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 49.5จุด จาก 43จุดในเดือนก่อน ทั้งนี้ แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจสะดุดลง หากการระบาดของ COVID-19 ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กดดันให้หลายรัฐต้องกลับมาใช้มาตรการ Lockdown ที่เข้มงวดอีกครั้ง
ฝั่งยุโรป – ตลาดมองว่าเศรษฐกิจยุโรปมีทิศทางฟื้นตัวที่ดีขึ้น สะท้อนจากยอดค้าปลีกของเยอรมนี (Retail Sales) เดือนพฤษภาคมที่โตได้ 3.5% จากเดือนก่อน หลังจากหดตัวกว่า 5.3% และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของยูโรโซน (Consumer Confidence) ที่ปรับตัวดีขึ้นสู่ระดับ -10จุด จาก -14.7จุด
ฝั่งเอเชีย – ตลาดคาดว่าภาคการบริโภคของญี่ปุ่นจะฟื้นตัวได้ดีขึ้น ชี้จากยอดค้าปลีกในเดือนพฤษภาคมที่จะกลับมาโต 3.0% จากเดือนก่อนหน้า ดีขึ้นจากที่หดตัวราว 10% แต่ภาคธุรกิจโดยรวมยังมีมุมมองที่ไม่เชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอยู่ สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (Tankan Index) ในไตรมาสที่ 2 ที่ดิ่งลงสู่ระดับ -30จุด จากระดับ -8จุด ในไตรมาสก่อน ซึ่งอาจส่งผลให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นต้องใช้มาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจเพิ่มเติม ส่วนในฝั่งจีน ภาคการผลิตจะส่งสัญญาณขยายตัวดีขึ้น ตามความต้องการสินค้าจากประเทศอื่นๆ หลังการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ทำให้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตที่สำรวจโดยรัฐบาลและ Caixinต่างปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 51จุด ชี้ว่าภาคการผลิตขยายตัวดีขึ้น ทั้งนี้ภาคการบริการอาจชะลอตัวลงบ้าง จากความกังวลการระบาดระลอกที่ 2 กดดันให้ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (Services PMI) ที่สำรวจโดยภาครัฐและCaixinลดลงสู่ระดับ 53จุด (ดัชนีเกินกว่า 50จุด แสดงถึงภาวะขยายตัว)
ฝั่งไทย – ตลาดประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ระดับ -3.0% โดยมาจากราคาน้ำมันดิบที่ดิ่งลงกว่า 35% เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่ภาพเศรษฐกิจที่ค่อยๆฟื้นตัวและมาตรการช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่ายจากภาครัฐก็ยังคงกดดันราคาสินค้า
ห้ามพลาด
♦ค่าเงินบาทอ่อนลงอยู่ที่ 30.93 บาท/ดอลลาร์ เคลื่อนไหวตามตลาดทุน- (29 มิ.ย.)
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นเร็วๆนี้
ปรับแต่งปฏิทินเศรษฐกิจ ให้เหมาะกับเว็บไซต์ของคุณได้ที่ Investing.com ประเทศไทย.