ช่วงคืนที่ผ่านมานักลงทุนฝั่งสหรัฐทยอยขายหุ้นปิดท้ายไตรมาส ส่งผลให้ดัชนี S&P 500 ปรับตัวลงอีก 1.6% ในสามเดือนแรกของปีนี้จึงปรับตัวลงรวม 20% กลายเป็นช่วงที่แย่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 1987
อย่างไรก็ดี ในฝั่งของมุมมองเศรษฐกิจในอนาคตก็มีปัจจัยบวกอยู่บ้าง โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในสหรัฐ (CB Consumer Confidence) ปรับตัวลงมาที่ 120จุด จากที่คาดว่าจะปรับตัวลงหนักกว่านี้ เช่นเดียวกันกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการญี่ปุ่น (Tankan Business Survey) ที่รายงานในช่วงเช้าที่ผ่านมา ก็สังเกตได้ว่าภาคอุตสาหกรรมมีมุมองเชิงบวก ว่าน่าจะสามารถกลับมาทำธุรกิจได้ตามปกติบ้าง นอกจากนี้ดัชนีความกลัวหรือ VIX Index ก็ปรับตัวลงบ้างโดยล่าสุดอยู่ที่ระดับ 53% แม้ว่าจะยังอยู่ในช่วงที่สูงผิดปกติ แต่ก็ถือเป็นสัญญาณว่าตลาดเคยชินกับความเสี่ยงปัจจุบันมากขึ้น
ฝั่งของตลาดเงินในช่วงไตรมาสที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่าดอลลาร์แข็งค่าผิดปกติจากปัญหาสภาพคล่อง โดยเมื่อเทียบกับสกุลเงินกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่ผันผวนสูง (High Volatility EM Currencies) ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น 15-20% และมีเพียงทองคำ ฟรังก์สวิส (CHF) กับเงินเยน (JPY) เท่านั้นที่สามารถปรับตัวบวกได้ในไตรมาสแรก เชื่อว่าปัจจัยดังกล่าวไม่ได้มาจากพื้นฐานของสหรัฐที่ที่ดีกว่าประเทศอื่น ในอนาคต สกุลเงิน EM จึงมีโอกาสฟื้นตัวเมื่อเทียบกับสกุลเงินประเทศพัฒนา (DM) เช่นกัน
สำหรับค่าเงินบาท ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาถูกกดดันจากสามประเด็นหลัก คือความกังวลว่าเศรษฐกิจจะหดตัวหนังจากวิกฤติโควิด-19 การอ่อนค่าของสกุลเงิน EM และตลาดหุ้นในฝั่งเอเชียที่ผันผวน
มองว่าในช่วงต้นไตรมาสนี้ ทั้งสามปัจจัยดังกล่าวจะยังคงกดดันเงินบาทต่อเนื่อง เพราะทั่วโลกจะเลือกใช้มาตรการชะลอกิจกรรมทางเศรษฐกิจในการแก้ปัญหาการระบาดของไวรัส โดยมองว่าอ่อนค่าได้มากที่สุดถึงระดับ 33.70 บาทต่อดอลลาร์ หรือคิดเป็นการอ่อนค่าต่อเนื่อง 2.5%
อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสนี้ก็มีโอกาสที่ทุกสกุลเงินเอเชียจะกลับตัว เพราะจะเป็นขาลงของการระบาดของไวรัส ขณะเดียวกันเศรษฐกิจฝั่งเอเชียก็จะกลับมาดำเนินการได้ตามปกติก่อนฝั่งตะวันตก เงินบาทจึงมีโอกาสแข็งค่ากลับลงได้เช่นกัน