💎 ดูบริษัทต่าง ๆ ที่มีสุขภาพทางการเงินที่ดีที่สุดในตลาดปัจจุบันเริ่มต้นเลย

ทิศทางเจรจาการค้า จีน-สหรัฐฯ ยังคลุมเครือ ...เล็งหาจังหวะ Take Profits

เผยแพร่ 18/11/2562 13:45

Weekly Investment Theme: Nov 18-22, 2019

Market Review

· แม้ว่า ตลาดหุ้นในฝั่งเอเชียจะย่อตัวลงเล็กน้อยจากความไม่แน่นอนของการเจรจาการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่ทำให้ตลาดเริ่มไม่มั่นในว่าสุดท้ายจะเกิดข้อตกลงการค้าได้จริง

· แต่ในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนีตลาดหุ้นหลักทั้ง Dow Jones, S&P500 และ Nasdaq กลับปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ (All-Time High) โดยมาจากรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯที่ออกมาดีกว่าคาด และมุมมองของบรรดาคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟดที่มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น

· อย่างไรก็ดี นักลงทุนบางส่วนก็ไม่ได้กล้าเปิดรับความเสี่ยงเต็มที่ ดังจะเห็นได้จากการที่มีแรงซื้อ ETF พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯสุทธิกว่า 528 ล้านดอลลาร์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯอายุ 10ปี ราว 12bps

· ในฝั่งสินทรัพย์ทางเลือกจะเห็นได้ว่า แนวโน้มของบอนด์ยีลด์ได้ส่งผลกระทบต่อกองทุนอสังหาฯและโครงสร้างพื้นฐานอย่างชัดเจน ซึ่งการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ได้หนุนให้กองทุนอสังหาฯและโครงสร้างพื้นฐานโลกฟื้นตัวขึ้น ขณะที่กองทุนอสังหาฯไทยยังคงเผชิญแรงเทขายกำไรต่อเนื่อง เพราะบอนด์ยีลด์ไทยอายุ 10ปีก็ยังคงทรงตัวนอกจากนี้ ปัญหาสภาพคล่องต่ำของกองทุนอสังหาฯและโครงสร้างพื้นฐานก็เป็นอีกปัจจัยที่ยิ่งช่วยให้ราคาปรับตัวลงแรง เมื่อเผชิญแรงเทขายทำกำไร

· ส่วนตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เด้งขึ้นราว 1.7% ซึ่งเป็นผลจากการที่ตลาดเริ่มประเมินว่าปริมาณการผลิตน้ำมันจาก Shale Oil ในสหรัฐฯจะเริ่มลดลงในปีหน้า และส่วนหนึ่งเป็นผลจากตลาดรับรู้ข่าว IPO หุ้นบริษัท Saudi Aramco รวมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว

Economic Outlook

· สัปดาห์นี้ ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามก็คือ แนวโน้มการเจรจาการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ว่าจะมีความชัดเจนในประเด็นข้อตกลงการค้าเพิ่มขึ้นหรือไม่ นอกจากนี้ ตลาดจะให้ความสนใจ ถ้อยแถลงของบรรดาคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟด เพื่อติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการดำเนินนโยบายการเงินในอนาคต

· ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ไฮไลท์จะอยู่ที่วันศุกร์ ซึ่งทาง Markit จะมีการรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและการบริการ (Markit Manufacturing and Services PMIs) ของในหลายภูมิภาค โดยตลาดคาดว่ารายงานดังกล่าวจะสะท้อนภาพเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะในฝั่งยูโรโซน ที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตจะปรับตัวขึ้นแตะระดับ 46.4จุด ส่วนภาคการบริการก็เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 52.5จุด (ดัชนีสูงกว่า 50จุด หมายถึงการขยายตัว)

· นอกจากนี้ ตลาดจะติดตามรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสที่ 3 โดยในฝั่งสหรัฐฯ ส่วนใหญ่จะเป็นการรายงานจากบริษัทในฝั่งค้าปลีก อาทิ Target, Home Depot ซึ่งการคาดการณ์แนวโน้มผลประกอบการดังกล่าว จะสามารถชี้วัดแนวโน้มการบริโภคซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 70% ของเศรษฐกิจสหรัฐฯได้เช่นกัน

Theme of the Week

· สำหรับสัปดาห์นี้ ตลาดจะรอดูแนวโน้มการเจรจาการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯเป็นหลัก ทำให้หากการเจรจาการค้ายังคงราบรื่น ไม่ได้มีอะไรแย่ลง รวมทั้งภาพรวมเศรษฐกิจที่เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวก็จะช่วยหนุนบรรยากาศการลงทุนได้

· อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ตลาดหุ้นหลักต่างปรับตัวขึ้นและทำจุดสูงสุดใหม่ แต่ความชัดเจนเรื่องการเจรจาการค้ากลับคลุมเครือ เราเชื่อว่าภายใต้ภาวะเช่นนี้ นักลงทุนบางส่วนจะเลือกทยอยขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น ทำให้ตลาดทุนโดยรวมมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ (Sideways) แต่ตลาดก็พร้อมกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นได้ หากการเจรจาการค้ามีความชัดเจน และภาพรวมเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้ดีกว่าคาด

· ในระยะสั้น เรายังคงมองว่า หากนักลงทุนที่มีกำไรจากการถือสินทรัพย์เสี่ยงในระดับ 10% ขึ้นไป ก็สามารถพิจารณาขายทำกำไรออกมาได้ และรอจังหวะเข้าซื้ออีกครั้ง (Buy on dip) ในกลุ่มสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนในรูปแบบของปันผลหรือกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ (Income Generating Assets) ซึ่งจะเป็นที่ต้องการของตลาดในช่วงปลายวัฏจักรเศรษฐกิจ (Late Cycle) อาทิ กองทุนอสังหาฯและโครงสร้างพื้นฐาน (REITs and Infra) ที่กลับมาน่าสนใจมากขึ้น หลังการปรับฐานในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ทำให้ยีลด์ของกองทุนอสังหาฯ ปรับตัวขึ้นมากกว่า 4.0% (ล่าสุด ดัชนี SETPREIT ให้ยีลด์ที่ระดับ 5.20%)

· แต่ถ้านักลงทุนรับความเสี่ยงได้น้อย การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ในช่วงที่ผ่านมาก็ได้ส่งผลให้ ตราสารหนี้ โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลในตลาดเกิดใหม่ (EM Sovereign Debt) ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจด้วยยีลด์ราว 3.8%

· สำหรับนักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้ หุ้นปันผลสูงและคุณภาพดี (High Dividend and High Quality) คือคำตอบในช่วงที่ภาพรวมเศรษฐกิจไม่ได้สดใส และความผันผวนตลาดปรับตัวสูงขึ้น

· ส่วนนักลงทุนที่กล้าเสี่ยงเต็มที่ เราคงมุมมองว่า การลงทุนในหุ้นจีน A shares ยังเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เพราะแรงกดดันจากเกมส์การเมืองสหรัฐฯ จะทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์ต้องการจะพักรบสงครามการค้าชั่วคราวกับจีน ขณะเดียวกันภาพเศรษฐกิจจีนที่ยังคงชะลอตัวก็จะกดดันให้ทางการจีนอยากพักรบสงครามการค้าเช่นกัน แต่นักลงทุนก็ควรรอหาจังหวะตลาดย่อตัวเพื่อซื้อ (Buy on Dip) หลังหุ้นจีนฟื้นตัวขึ้นราว 10% จากช่วงที่สงครามการค้ายังร้อนแรง

· ส่วนในระยะยาว ด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวมากขึ้น เรายังคงแนะนำให้นักลงทุนถือโอกาสในช่วงที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้น “รอจังหวะ” เพื่อทยอยซื้อสะสม “พันธบัตรรัฐบาล” และหากนักลงทุนกล้าเสี่ยงและรับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนได้ พันธบัตรรัฐบาลตลาดเกิดใหม่ (EM Sovereign Bonds) คือตัวเลือกที่น่าสนใจ ด้วยระดับยีลด์ที่สูงกว่า บอนด์ DM อีกทั้ง บอนด์ EM มักจะปรับตัวขึ้นได้ดี หากเงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลง

สำหรับมุมมองเราต่อ Asset Classes ต่างๆ มีดังนี้

· Equity: คงมุมมองเป็น “Neutral” เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัว และความไม่แน่นอนของสงครามการค้าจะเป็นปัจจัยที่สามารถกดดันบรรยากาศการลงทุนได้ทุกเมื่อ นักลงทุนจึงควรลดสัดส่วนการถือครองหุ้น และรอโอกาสเข้าซื้อ หากตลาดมีการปรับฐานหนัก (Buy on Dip) เพื่อเลือกซื้อของถูก โดยควรเน้นหุ้นที่มีคุณภาพดีและให้ปันผลสูง (High Quality and High Dividend Yield)

· US Equity: คงมุมมอง “Underweight” เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯเริ่มชะลอตัวมากขึ้น และปัจจุบัน ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ซื้อ/ขายกันในระดับราคาที่แพง (P/E ราว 20 เท่า) เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วง 10ปีที่ผ่านมา (P/E 17.9 เท่า) ดังนั้น Upsides ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ดูจะไม่คุ้มความเสี่ยง นักลงทุนควรพิจารณาทยอยขายทำกำไรหุ้นสหรัฐฯ เมื่อดัชนี เริ่มทำจุดสูงสุดใหม่

· Europe Equity: คงมุมมอง “Neutral” เนื่องจากเศรษฐกิจยุโรปโดยรวมยังไม่ฟื้นตัวดีขึ้น และผลกระทบของสงครามการค้าและปัญหาการเมืองในยุโรปอาจกดดันแนวโน้มผลกำไรของบริษัทจดทะเบียน อย่างไรก็ดี หุ้นยุโรปก็ยังมีแรงหนุนจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นของธนาคารกลางยุโรป และเราอาจจะมีมุมมองที่เป็นบวกกับหุ้นยุโรปมากขึ้น หากรัฐบาลยุโรป อาทิ รัฐบาลเยอรมนี เริ่มใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม

· Japan Equity: คงมุมมอง “Neutral” เพราะในระยะสั้น ตลาดมีโอกาสเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น จากความหวังการเจรจาการค้าจีนกับสหรัฐฯ ทำให้เงินเยนมีโอกาสอ่อนค่าลง ส่งผลดีต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่น อีกทั้ง ราคาปัจจุบันของหุ้นญี่ปุ่น (TOPIX Index) ที่ P/E 14.6 เท่า ถือว่าไม่แพงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วง 10ปีที่ผ่านมา ที่ระดับ 17.5 เท่า แต่ในระยะยาว ความไม่แน่นอนของแนวโน้มเศรษฐกิจโลกจะกดดันให้เงินเยนมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเสมอ จากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven Assets) ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อหุ้นญี่ปุ่น

· EM Equity: คงมุมมอง “Neutral” ตลาดหุ้นก็สามารถรีบาวด์ขึ้นได้ในช่วงสั้น จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลงของธนาคารกลางทั่วโลก อย่างไรก็ดีบางประเทศในตลาดเกิดใหม่ยังคงมีปัญหาการเมืองในประเทศ รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อระดับสูง นักลงทุนจึงควรหลีกเลี่ยงการลงทุนในกลุ่มประเทศดังกล่าว และรอให้สถานการณ์การเมืองเริ่มชัดเจนก่อนตัดสินใจลงทุน

· China Equity: คงมุมมอง “Overweight” โดยเราเชื่อว่าในระยะสั้น ทั้งสองฝ่ายมีความต้องการที่จะพักรบสงครามการค้าชั่วคราวและบรรลุข้อตกลงการค้าบางส่วนได้ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นจีนก็ยังมีปัจจัยหนุนอยู่ ทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากธนาคารกลางจีน (PBOC) และ การเพิ่มสัดส่วน หุ้นจีน A-Shares บนดัชนีของ MSCI ดังนั้น การปรับฐานของตลาดหุ้นจีนก็จะเป็นโอกาสให้นักลงทุนทยอยซื้อสะสมหุ้นจีน (Buy on Dip) ในราคาที่ไม่แพง

· Thai Equity: คงมุมมอง “Underweight” เพราะเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลงและทั้งปีจะโตได้ไม่ถึง 3%จากปีก่อนหน้า ทำให้แนวโน้มผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนอาจแย่ลงกว่าที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ไว้ สอดคล้องกับการปรับสัดส่วนการลงทุน (Sector Rotation) จากหุ้น Cyclical เป็น หุ้น Defensive ของนักลงทุนสถาบัน

· Fixed Income: คงมุมมอง “Neutral” โดยในระยะสั้น แม้ว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นจากธนาคารกลางทั่วโลกจะเป็นปัจจัยหลักที่หนุนตลาดบอนด์ แต่บอนด์ยีลด์ก็ปรับตัวลดลงมามากทำให้มีโอกาสที่ยีลด์จะปรับตัวขึ้นได้ หากตลาดพลิกกลับมาเปิดรับความเสี่ยง อย่างไรก็ดี เราคงมุมมองว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวอย่างแน่นอน นักลงทุนควรรอจังหวะที่บอนด์ยีลด์เด้งขึ้น เพื่อเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในบอนด์

· Global Fixed Income: คงมุมมอง “Neutral” โดยมองว่าตราสารหนี้ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลมียีลด์ที่ค่อนข้างต่ำ อีกทั้งยีลด์พันธบัตรรัฐบาลก็ปรับตัวลดลงมามาก ทำให้เสี่ยงที่ยีลด์จะเด้งขึ้นแรง เมื่อตลาดกล้าเสี่ยงในช่วงสั้น อย่างไรก็ดี เรามองว่าตราสารหนี้ที่มีคุณภาพและให้ยีลด์ที่สูง โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลตลาดเกิดใหม่ (EM Sovereign Debts) ของประเทศที่มีปัญหาการเมืองน้อย ยังคงน่าสนใจด้วยยีลด์ที่สูงกว่าตลาด DM ราว 2% อีกทั้งตราสารหนี้ EM ยังจะได้รับแรงหนุนจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของเฟด และการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางใน EM

· Thai Fixed Income: คงมุมมอง “Underweight”เพราะยีลด์บอนด์ไทยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.6% ต่ำกว่า ยีลด์โดยเฉลี่ยจากบอนด์กลุ่ม EM ที่ระดับ 3.8% ทำให้นักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนมีตัวเลือกอื่นในตลาดเกิดใหม่ที่ดีกว่าบอนด์ไทย

· Alternative Assets: คงมุมมอง “Overweight” เนื่องจากนักลงทุนจะแสวงหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอและมียีลด์ที่สูงกว่าการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ในช่วงที่เศรษฐกิจเผชิญความไม่แน่นอนสูง ทำให้สินทรัพย์ทางเลือกอย่าง กองทุนอสังหาฯและโครงสร้างพื้นฐานยังมีความน่าสนใจ ด้วยยีลด์ที่สูงระดับ 4-5% อย่างไรก็ดีนักลงทุนควรตระหนักไว้ว่า หากตลาดกลัวความเสี่ยงมากและไล่ขายสินทรัพย์เสี่ยง กองทุนอสังหาฯ ก็จะมีโอกาสโดนเทขายได้เช่นกัน

· REITs/Infra.: คงมุมมอง “Overweight” เพราะกองทุนอสังหาฯ โดยรวมยังให้ยีลด์ที่สูงกว่าตราสารหนี้ราว 3% และยังคงได้รับปัจจัยหนุนจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ทว่า นักลงทุนก็ควรเลือกกองทุนอสังหาฯที่มีการกระจายการลงทุนในต่างประเทศ และมีสัดส่วนการลงทุนมากกว่าในไทย เพราะกองทุนอสังหาฯไทย ปรับตัวขึ้นค่อนข้างมากอย่างรวดเร็ว จากความต้องการของนักลงทุนและสภาพคล่องที่ต่ำ ทำให้กองทุนอสังหาฯไทย แพงขึ้นมากในสายตาของนักลงทุนสถาบัน ซึ่งพร้อมที่จะขายทำกำไรกองทุนอสังหาฯไทยได้ทุกเมื่อ หากตลาดกลับมาปิดรับความเสี่ยง

· Commodity: คงมุมมอง “Neutral” โดยในระยะสั้น ราคาน้ำมันดิบจะได้รับแรงหนุนจากความหวังข้อตกลงการค้าจีน-สหรัฐฯ, โอกาสที่กลุ่มโอเปก+ จะลดกำลังการผลิตเพิ่ม รวมทั้งความต้องการน้ำมันจากโรงกลั่นที่เพิ่มขึ้น เพื่อชดเชยช่วงการปิดปรับปรุงโรงกลั่นในปีนี้ที่ยาวนานกว่าปกติ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการปรับปรุงเพื่อตอบรับมาตรฐานเชื้อเพลิงใหม่ IMO 2020 แต่ในระยะยาว ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลง จากความไม่สมดุลของอุปสงค์และอุปทานน้ำมันดิบ โดยความต้องการน้ำมันจะกลับมาลดลง ตามภาพเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ขณะที่อุปทานน้ำมันดิบก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นหนุนโดยกำลังการผลิตน้ำมันในฝั่งสหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง

· Gold: คงมุมมอง “Overweight” เพราะข้อมูลในอดีตชี้ชัดว่าทองคำจะเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนโดดเด่นในช่วงที่ธนาคารกลางต่างใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย และภาพรวมเศรษฐกิจโลกไม่สดใส ดังนั้น หากตลาดเปิดรับความเสี่ยงในระยะสั้น และทำให้ราคาทองคำปรับฐาน นักลงทุนก็ควรมองว่าการปรับฐานดังกล่าวเป็นโอกาสให้นักลงทุนเข้าซื้อสะสมทองคำ ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง (Buy on Dip)

ความคิดเห็นล่าสุด

กำลังโหลดบทความถัดไป...
การเปิดเผยความเสี่ยง: การซื้อขายตราสารทางการเงินและ/หรือเงินดิจิตอลจะมีความเสี่ยงสูงที่รวมถึงความเสี่ยงต่อการสูญเสียจำนวนเงินลงทุนของคุณบางส่วนหรือทั้งหมดและอาจไม่เหมาะสมกับนักลงทุนทั้งหมด ราคาของเงินดิจิตอลแปรปรวนอย่างมากและอาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกต่าง ๆ เช่น เหตุการณ์ทางการเงิน กฎหมายกำกับดูแล หรือ เหตุการณ์ทางการเมือง การซื้อขายด้วยมาร์จินทำให้ความเสี่ยงทางการเงินเพิ่มขึ้น
ก่อนการตัดสินใจซื้อขายตราสารทางการเงินหรือเงินดิจิตอล คุณควรตระหนักดีถึงความเสี่ยงและต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายในตลาดการเงิน ควรพิจารณาศึกษาอย่างรอบคอบในด้านวัตถุประสงค์การลงทุน ระดับประสบการณ์ และ การยอมรับความเสี่ยงและแสวงหาคำแนะนำทางวิชาชีพหากจำเป็น
Fusion Media อยากเตือนความจำคุณว่าข้อมูลที่มีในเว็บไซต์นี้ไม่ใช่แบบเรียลไทม์หรือเที่ยงตรงแม่นยำเสมอไป ข้อมูลและราคาที่แสดงไว้บนเว็บไซต์ไม่ใช่ข้อมูลที่ได้รับจากตลาดหรือตลาดหลักทรัพย์เสมอไปแต่อาจได้รับจากผู้ดูแลสภาพคล่องและดังนั้นราคาจึงอาจไม่เที่ยงตรงแม่นยำและอาจแตกต่างจากราคาจริงในตลาดซึ่งหมายความว่าราคานี้เป็นเพียงราคาชี้นำและไม่เหมาะสมสำหรับวัตถุประสงค์เพื่อการซื้อขาย Fusion Media และผู้ให้ข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้จะไม่รับผิดชอบใด ๆ สำหรับความเสียหายหรือการสูญเสียที่เป็นผลมาจากการซื้อขายของคุณหรือการพึ่งพาของคุณในข้อมูลที่มีในเว็บไซต์นี้
ห้ามใช้ จัดเก็บ ทำซ้ำ แสดงผล ดัดแปลง ส่งผ่าน หรือ แจกจ่ายข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้โดยไม่ได้รับการอนุญาตล่วงหน้าอย่างชัดแจ้งแบบเป็นลายลักษณ์อักษรจาก Fusion Media และ/หรือจากผู้ให้ข้อมูล ผู้ให้ข้อมูลขอสงวนสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาและ/หรือการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ให้ข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้
Fusion Media อาจได้รับผลตอบแทนจากผู้โฆษณาที่ปรากฎบนเว็บไซต์โดยอิงจากปฏิสัมพันธ์ของคุณที่มีกับโฆษณาหรือผู้โฆษณา
เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษของเอกสารฉบับนี้เป็นเวอร์ชั่นหลักซึ่งจะเป็นเวอร์ชั่นที่เหนือกว่าเมื่อใดก็ตามที่มีข้อขัดแย้งไม่สอดคล้องตรงกันระหว่างเอกสารเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษกับเอกสารเวอร์ชั่นภาษาไทย