โดย Kathy Lien กรรมการผู้จัดการด้านกลยุทธ์ฟอเร็กซ์จาก BK Asset Management
ภาพรวมตลาดฟอเร็กซ์ประจำวันที่ 23 กรกฎาคม 2019
ก่อนหน้าที่จะมี การแถลงนโยบายทางการเงิน ครั้งสำคัญของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันพรุ่งนี้ ยูโร มีการซื้อขายกันอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 2 เดือนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ยูโรปรับตัวลดลงทะลุระดับ 1.12 ตั้งแต่เมื่อคืนวานนี้และยังคงอยู่ในแดนลบไปจนกระทั่งเปิดตลาดที่นิวยอร์ค ในขณะที่ทุกคนต่างคาดว่าจะมีการ ปรับลดอัตราดอกเบี้ย ในสหรัฐฯ ECB ก็อาจตัดสินใจปรับลดลงด้วยเช่นกัน โดยทั่วไปแล้ว ECB มักจะเตรียมความพร้อมให้กับนักลงทุนก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงต้องทำการปรับเปลี่ยนตัวเลขที่คาดการณ์ครั้งสำคัญในสัปดาห์นี้
ที่จริงแล้ว ECB สามารถที่จะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคมได้อย่างง่ายดาย แต่เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงไปหลังจากการประชุมครั้งที่ผ่านมา ECB จึงมีความยืดหยุ่นมากพอที่จะยืดเวลาออกไปจนกว่าจะมีการปรับปรุงตัวเลขทางเศรษฐกิจที่คาดการณ์อีกครั้งในเดือนกันยายนได้ ความเชื่อมั่นทางธุรกิจและ ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ยังคงอ่อนตัวลง แต่ การใช้จ่ายของผู้บริโภค ปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้ง ตลาดแรงงาน และ อัตราเงินเฟ้อ ก็ขยับสูงขึ้น จากข้อมูลต่างๆ ดังกล่าวจะเห็นว่าในภาพรวมยังดูคงค่อนข้างไม่สู้ดีนัก อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำจะเป็นปัญหาสำคัญสำหรับธนาคารกลาง หากดัชนีราคาผู้บริโภคยังคงอยู่ที่ระดับประมาณ 1.3% ในยูโรโซน จีดีพีประจำไตรมาสที่ 1 ที่เติบโตขึ้นได้ 0.4% ก็ยังถือต่ำกว่าที่ควรเป็น รวมทั้งปัญหาทางด้านภาษีที่มีการขู่จะใช้กับยุโรปนั้นก็อาจทำให้ตัวเลขการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจแย่ลงไปอีก
นักวิเคราะห์หลายคนต่างพากันจับจ้องไปที่ การปรับลดอัตราดอกเบี้ย ในเดือนกันยายน แต่ธนาคารกลางก็อาจจะเลือกดำเนินการโดยใช้วิธีที่จริงจังมากขึ้นด้วยการใช้มาตรการที่ประกอบไปด้วยการซื้อสินทรัพย์และลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากไปพร้อมๆ กัน เมื่อพิจารณาข้อมูลทางเทคนิคจะพบว่า EUR/USD ได้ทะลุแนวรับลงมาเรียบร้อยแล้ว หาก ECB มีท่าทีที่ผ่อนปรนมากพอ สกุลเงินคู่นี้ก็อาจดิ่งลงไปแตะจุดต่ำสุดในรอบ 2 ปีที่ระดับ 1.1106 ได้ อย่างไรก็ตาม หาก ECB ยังมีท่าทีที่ไม่ชัดเจนก็จะเป็นการบีบให้ผู้ที่ถือสถานะ short ของ EUR/USD ไว้ต้องรีบปิดสถานะกันก่อนที่จะมีการ ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในสัปดาห์หน้า ซึ่งมีการคาดกันว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดวิกฤติการณ์ทางการเงินระดับโลกขึ้นมา
ดอลลาร์สหรัฐ ยังซื้อขายกันอยู่ในระดับที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่นๆ แม้ว่าตัวเลข ยอดขายบ้านมือสอง จะยังลดลงก็ตาม ดอลลาร์นิวซีแลนด์ เป็นสกุลเงินที่ทำผลงานได้แย่ที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วย ดอลลาร์ออสเตรเลีย ส่วน สเตอร์ลิง ก็ปรับตัวลดลงเช่นกันแต่มีสาเหตุหลักมาจาก ดัชนี CBI ที่อ่อนค่าลงมากกว่าการที่นายบอริส จอห์นสันได้เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากตลาดไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าใดนักกับชัยชนะในครั้งนี้ หรือแม้แต่ความคิดเห็นที่เขาพยายามจะนำอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปให้ได้ภายในวันที่ 31 ตุลาคม จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นว่าการที่ไม่มีผู้ใส่ใจความคิดเห็นของนายจอห์นสันเท่าใดนั้นน่าจะทำให้ช่วงไม่กี่สัปดาห์ต่อจากนี้เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับเงินสเตอร์ลิง