โดย Kathy Lien กรรมการผู้จัดการด้านกลยุทธ์ฟอเร็กซ์จาก BK Asset Management
ภาพรวมตลาดฟอเร็กซ์ประจำวันที่ 18 กรกฎาคม 2019
เราจะอธิบายให้ทราบว่าเหตุใดนักลงทุนจึงพากันเทขาย ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เงินสกุลหลักอื่นๆ ยกเว้น ดอลลาร์แคนาดา ยังคงซื้อขายกันในระดับที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เหตุผลหลัก 5 ข้อที่เป็นสาเหตุของการอ่อนค่าลงของดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีดังต่อไปนี้
5 เหตุผลที่นักลงทุนเทขาย USD
-
ธนาคารกลางยังคงท่าทีที่จะปรับลด อัตราดอกเบี้ย ลงในเดือนนี้
-
อิหร่านยึดเรือบรรทุกน้ำมันต่างชาติ
-
นายมนูชิน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังกล่าวแกมหยอกว่าอาจมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของดอลลาร์
-
ผลประกอบการของบริษัทต่างๆ ยังไม่ดีเท่าที่ควรและผลักให้ดัชนีหุ้นลดต่ำลง
-
USD/JPY ปิดตลาดที่ระดับเกือบต่ำที่สุดในรอบ 1 เดือน
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนตัวลงเนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงมีท่าทีที่จะปรับลด อัตราดอกเบี้ย ลงในเดือนนี้ แม้ว่าจะมีการปรับลดลงเพียงครั้งเดียวในปี 2019 แต่ก็ถือเป็นการเปลี่ยนท่าทีด้านนโยบายและการคาดการณ์ทางการเงินครั้งสำคัญจากที่เคยมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในเดือนธันวาคม รวมทั้งนักลงทุนยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางหลังจากที่อิหร่านยึดเรือบรรทุกน้ำมันต่างชาติ และหากยังจำกันได้ สหรัฐฯ เคยเกือบที่จะตัดสินใจโจมตีอิหร่านมาครั้งหนึ่งแล้วหลังจากที่โดรนของสหรัฐฯ ถูกยิงตกเหนือช่องแคบฮอร์มุซในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เมื่อเช้าวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา นายมนูชิน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังก็ยังได้พูดแกมหยอกว่าอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายของเงินดอลลาร์ โดยกล่าวว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายของเงินดอลลาร์ “ในตอนนี้” อย่างแน่นอน ซึ่งอาจตีความได้ว่าอาจมีการเปลี่ยนแปลงการสนับสนุนค่าเงินดอลลาร์จากรัฐบาลในอนาคตก็ได้ นอกจากนี้ช่วงเวลาแห่งการประกาศผลประกอบการของบริษัทต่างๆ ที่ออกมาไม่ดีเท่าใดนักก็ทำให้เกิดความผันผวนได้พอสมควร ด้านตลาดหุ้นก็ยังปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 และยังส่งผลเสียกับ USD/JPY ค่อนข้างมาก การได้เปรียบดุลการค้า ของญี่ปุ่นก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นแต่อย่างใด แต่กลับทำให้ราคาซื้อขาย USD/JPY ปรับลดลงเกือบต่ำสุดในรอบเดือน โดยคาดว่าจะยังลดลงจนไปทดสอบจุดต่ำสุดของเดือนมิถุนายนที่ใกล้ระดับ 106.78
เงิน ปอนด์อังกฤษ และ ดอลลาร์ออสเตรเลีย เป็นสองสกุลเงินที่ทำผลงานได้ดีที่สุด ยอดขายปลีก ของสหราชอาณาจักรทำสถิติได้ดีเกินคาด โดยปรับขึ้นในเดือนมิถุนายนได้ถึง 1% เมื่อเทียบกับที่คาดการณ์ไว้ว่าจะลดลง -0.3% การใช้จ่าย ที่ไม่รวมน้ำมันเชื้อเพลิงยานยนต์ ก็ยังแข็งแกร่งซึ่งหมายความว่ามีกำลังซื้อหนุนอยู่มาก ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นนี้เพียงพอที่จะชดเชยส่วนที่ปรับลดลงไปในเดือนเมษายนและพฤษภาคม รวมทั้งยังทำให้คลายความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดจาก การลงทุนทางธุรกิจ ที่ลดน้อยลงได้ นักลงทุนที่ถือเงินสเตอร์ลิงยังได้รับแรงหนุนจากรายงานที่ว่าสหภาพยุโรปอาจมีตัวเลือกซึ่งเป็นคำตอบในใจไว้อีกทางหนึ่งแล้ว ซึ่งก็น่าจะเป็นแรงกดดันสำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรทั้งสองคนอยู่พอสมควร
ดอลลาร์ออสเตรเลีย ปรับตัวสูงขึ้นได้จาก ตัวเลขตลาดแรงงาน ที่ประกาศออกมาล่าสุด แม้ว่าจะมีปริมาณการจ้างงานในเดือนมิถุนายนเพียง 500 ตำแหน่ง แต่ตัวเลขที่ค่อนข้างน้อยทั้งหมดนี้มาจากงานนอกเวลาทั้งสิ้น ส่วนงานประจำนั้นเพิ่มขึ้น 21,000 ตำแหน่ง นับเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจนทำให้ อัตราการว่างงาน คงที่อยู่ที่ 5.2% นักลงทุนจึงค่อนข้างโล่งใจเพราะหากพิจารณาจากดัชนี PMI ตัวเลขที่ออกมาคงจะแย่กว่านี้ AUD/USD ยังคงทรงตัวอยู่เกือบถึงระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือนและอาจปรับตัวสูงขึ้นจนทะลุระดับนี้ไปได้ภายในอีกไม่กี่วันนี้
สำหรับ ดอลลาร์แคนาดา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมายังไม่สามารถฟื้นตัวได้ เนื่องจาก ราคาน้ำมัน ยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นวันที่หก โดยราคาน้ำมันดิบปรับลดลงไปหาระดับ $55 ต่อบาร์เรลซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบเกือบหนึ่งเดือน ยอดขายปลีก ของแคนาดาที่มีกำหนดที่จะประกาศออกมาให้ทราบในวันศุกร์นี้ยังทำให้นักลงทุนมีความกังวล เพราะหากธนาคารกลางแคนาดายังมีท่าทีประนีประนอม ตัวเลขการใช้จ่ายก็น่าจะอ่อนตัวลงไปอีกจนอาจทำให้ USD/CAD ปรับตัวลงไปอยู่ในจุดต่ำสุดได้