ดิฉันตั้งใจจะเขียนถึงการรับมือกับสงครามการค้าที่แม้จะดูเหมือนผ่อนคลายลงในสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ก็เป็นเพียงชั่วคราว และมองเห็นว่า ประเทศในกลุ่ม ASEAN+3 ต้องทำงานกันใกล้ชิดมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับการสัมมนา ASEAN Business Summit 2019 ที่จัดโดยบลูมเบิร์ก เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งวิยากรหลายท่าน ก็ได้พูดในทำนองเดียวกัน
สัปดาห์นี้ขอเขียนในฐานะประชาชนคนหนึ่งและผู้ลงทุนซึ่งสนใจการเปลี่ยนแปลงและโอกาสในการลงทุน
ท่ามกลางสงครามการค้าและการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านโครงสร้างประชากร เทคโนโลยี และสังคมประเทศไทย ควรจะดีใจว่า เราโชคดีเพียงไร
ดิฉันเคยเขียนไปว่า มีผู้สังเกตว่า ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด จะเกิดความไม่เท่าเทียม ระหว่างคน “มี” กับคน “ไม่มี” เทคโนโลยีนั้น
ตอนนี้โลกอยู่ในช่วงเวลาสำคัญนั้นอีกครั้งหนึ่ง การเดินไปข้างหน้าของประเทศกำลังพัฒนาซึ่งเศรษฐกิจกำลังเติบโต แม่อัตราการเติบโตจะลดลงแค่ก็ยังเติบโต แม้จะอยู่ในระดับการพัฒนาที่ไม่เท่ากัน แต่มีความลงตัวอยู่ในตัวเอง ประเทศที่ประชากรยังหนุ่มสาว เช่น เวียดนาม พม่า ลาวเขมร สามารถช่วยเติมเต็มแรงงานที่ขาดแคลนของประเทศที่เริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัย คือ สิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย ได้
เรามีกลุ่มผู้บริโภคที่ใหญ่ ใหญ่พอที่จะเป็นที่ดึงดูดความสนใจของผู้ขายสินค้าและบริการ และมีสัดส่วนที่มากพอสมควร เป็นกลุ่มที่พร้อมจะเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่
ในขณะเดียวกัน เราก็เริ่มมีกลุ่มทุนที่ใหญ่และแข็งแรงขึ้นในระดับภูมิภาคและระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นด้านอุตสาหกรรม การบริการ และอสังหาริมทรัพย์ หากมีการร่วมมือกันมีการแบ่งปันโครงสร้างพื้นฐานกันแบ่งงานกันทำ ร่วมกันทำงาน ประเทศในกลุ่มอาเซียนก็สามารถเติบโตไปด้วยกันโดยไม่ต้องพึ่งพาประเทศตะวันตกมากนัก
โดยธรรมชาติ พวกเราอาเซียนก็มีส่วนคล้ายๆกันมากอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นหน้าตา สีผิว อาหารการกินซึ่งมีข้าวเป็นธัญพืชหลัก มีคนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาดี เก่งภาษาต่างประเทศ มีตรรกะดี และมีพลังในการสร้างสรรค์ฝ่าฟันอุปสรรค์ ต่างๆไปด้วยกัน เหล่านี้ถือเป็นข้อดีที่ทำให้ภูมิภาคนี้ มีความเป็นหนึ่งเดียว กลมเกลียวกันมากขึ้น
ข้อสำคัญ ต้องไม่ลืมกลุ่มที่ด้อยโอกาส กลุ่มที่ไม่พร้อมในการปรับตัวอย่างรวดเร็ว ฯลฯ จึงควรมีความร่วมมือกันในการช่วยกัน แบ่งปันทรัพยากรและเทคโนโลยี ช่วยดูแลคนกลุ่มนี้ให้สามารถมีส่วนร่วมในการเติบโต ไม่ถูกทิ้งไว้เป็นปัญหาของสังคม และให้สามารถใช้ชีวิตในอนาคตได้อย่างไม่ยากลำบาก
มีการกล่าวถึงการ reskill การฝึกงานให้ใหม่ ซึ่งดิฉันเห็นว่ามีความสำคัญมาก แต่ที่สำคัญกว่าคือ การปรับเปลี่ยนความคิดของคนเหล่านี้ ให้รู้สึกฮึกเหิมว่า เขา “ทำได้” เขาจะสามารถทำได้ กำลังใจจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ
ข้อแตกต่างระหว่างคนไทยกับคนตะวันตกคือ ณ ระดับความเก่งที่เท่ากัน คนไทยจะถ่อมตัว และเชื่อมั่นในตัวเองน้อยกว่า ชาวตะวันตก เราจึงควรสร้างความมั่นใจให้กับคนรุ่นใหม่ของเราให้กล้าแสดงออก มั่นใจที่จะแสดงความสามารถของตนให้เต็มที่ การถ่อมสุภาพไม่โอ้อวดตนเป็นเรื่องที่ดี แต่คนสุภาพ ก็สามารถเป็นคนเก่งได้ จึงต้องสร้างความมั่นใจให้กับเขา เพื่อให้เขาไม่ถูกมองข้ามไปในโลกอนาคตจาก กลุ่มที่กล้าแสดงออกมากกว่า
ดิฉันออกมาจากงานสัมมนาด้วยความรู้สึกที่ดี มีความหวังในอาเซียนและหวังว่าผู้เกี่ยวข้องจะพยายามร่วมมือกัน ทำให้ภูมิภาคนี้ ฝ่าฟันอุปสรรคของคลื่นเศรษฐกิจโลกที่เป็นผลพวงของประชากรที่สูงวัยขึ้น เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และความแตกต่างหรือช่องว่างทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น
วิทยากรได้แนะนำว่าต้องจัดโครงสร้างองค์กรให้พร้อมในการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ให้มีการสื่อสารอย่างทันที (real time) ให้ลงทุนเพื่อดูแลลูกค้าใหม่ๆที่ยังไม่ได้รับการดูแลและให้นำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ในการลดต้นทุน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ทำให้ทำงานเร็วขึ้น และจะได้ลดราคาสินค้าหรือค่าบริการที่เก็บจากลูกค้า ฯลฯ
ดูไปแล้ว เราไม่มีเวลามาทะเลาะกันยกพวกตีกัน หรือสนใจเรื่องส่วนตัวของกันและกันมากจนเกินไป เราจุดประกายให้กันและกัน ให้ลุกขึ้นมาทำงาน ช่วยงาน และทำประโยชน์ให้กับประเทศไทย และอาเซียนของเราค่ะ
ขอปิดท้ายด้วยคำพูดของท่านมหาเธร์ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ว่า คนยุคนี้ต้องมีความอดทน และต้องทำงานร่วมกับคนแก่ โดยเฉพาะที่แก่มากๆ อย่างท่าน ค่ะ
บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์ของสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) ThaiVI.org