โดย วณิชชา สุมานัส
Investing.com - ข้อมูลสิ้นไตรมาส 2/64 ระบุว่า มีหุ้นกู้เอกชน 9 บริษัท จำนวน 17 รุ่น มูลค่ารวม 9.8 พันล้านบาท ที่ขอยืดระยะเวลาชำระหนี้นานขึ้น เนื่องจากธุรกิจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 โดยเอกชนเหล่านี้เป็นบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่ขอยืดหนี้หุ้นกู้นี้อยู่ในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ ยานยนต์และเหล็ก โดยในกลุ่มบริษัทเหล่านี้ มีทั้งบริษัทเดิมที่ขอยืดหนี้เมื่อปีที่ผ่านมา และรวมรายใหม่ที่ได้รับผลกระทบจึงขอยืดหนี้
ในบรรดา 9 บริษัทนี้ มีบริษัทขนาดใหญ่ที่ขอยืดชำระหนี้หุ้นกู้รวมกัน 9 รุ่น จาก 17 รุ่น โดยมีมูลค่ารวม 5,665 ล้านบาท ได้แก่
บมจ.คันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์ (CGD) ขอขยายระยะเวลาชำระหนี้นาน 12 และเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเป็น. 7.5 จากเดิม 7% มีมูลค่าหุ้นกู้ที่ขอเลื่อนสูงสุด 2,800 ล้านบาท จากหุ้นกู้ 2 รุ่น
บมจ. พีพี ไพร์ม จำกัด (มหาชน) (PPPM) ขอขยายระยะเวลาชำระหนี้นานสูงสุด 24 เดือน พร้อมอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเป็น 7.06 – 8.59% จากเดิม 7-8.5% จากหุ้นกู้ 3 รุ่น รวมมูลค่า 633.2 ล้านบาท
บมจ. ช ทวี จำกัด (CHOm) ขอขยายเวลาชำระหนี้ 22 เดือน พร้อมดอกเบี้ยสูงสุด 0.75% จากเดิม 6.75% มีมูลค่าหุ้นกู้ที่ขอเลื่อน 545.3 ล้านบาท
นายธาดา พฤติธาดา กรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ชี้ว่า หนี้หุ้นกู้มูลค่าทั้งหมด 9.8 พันล้านบาทจากบริษัทจดทะเบียน 9 แห่งนั้น เป็นตัวเลขที่ยังไม่น่ากังวล เนื่องจากได้มีการแจ้งนักลงทุนให้ทราบอย่างชัดเจน โดยจะต้องขออนุมัติจากผู้ถือหุ้นก่อนหน้านี้และจะต้องแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ด้วย
นอกจากนี้ นายธาดา ยังกล่าวอีกว่า บริษัทจดทะเบียนรายใหม่ที่ขอยืดนี้นั้นไซส์ไม่ใหญ่มาก คืออยู่ระดับ 1,000-2,000 ล้านบาทนั้น และมีจำนวนไม่กี่ราย
ในขณะเดียวกัน นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเชียพลัส เผยว่า การขอยืดการชำระหนี้สะท้อนถึงสภาพคล่องทางการเงินที่ไม่ดีจากสถานการณ์โควิดในปัจจุบัน โดย บจ. จะต้องพิจารณาขอฟื้นตัวของผลประกอบการในอนาคตของบริษัทให้มีแนวโน้มกลับมาเติบโตใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดวิกฤติ หากสามารถทำได้ บริษัทก็สามารถกลับมาเป็นที่สนใจของนักลงทุนได้
ด้านนางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก ระบุว่า การยืดชำระหนี้ของเอกชนในครั้งนี้เป็นเรื่องปกติ เนื่องจากตั้งแต่ต้นปี 63 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ทุกประเทศได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระบาด ส่งผลให้ยอดขายและผลประกอบการของหลายบริษัทปรับตัวลดลง และวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดของบริษัทที่ได้รับผลกระทบก็คือขอเลื่อนการชำระหนี้เพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทไว้ก่อน