โดย Peter Nurse
Investing.com - ค่าเงินดอลลาร์ทรงตัวในช่วงเปิดตลาดยุโรป โดยรักษาระดับที่แข็งค่าขึ้นมาตลอดทั้งสัปดาห์เอาไว้ได้ ท่ามกลางสภาวะที่มีผู้ป่วยโควิดเพิ่มขึ้นทั่วโลก นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นยังทำให้นักลงทุนกังวลว่า เฟดจะลดสัดส่วนการซื้อพันธบัตรรายเดือนมูลค่า 120,000 ล้านดอลลาร์เร็วกว่าที่คาดไว้ด้วย
เมื่อเวลา 2:55 น. ET (0755 GMT) ดัชนีดอลลาร์ซื้อขายอยู่ในสภาวะทรงตัวที่ 92.620 ขยับไปสู่การเพิ่มขึ้นประมาณ 0.5% สำหรับสัปดาห์นี้ ซึ่งจะเป็นเปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มขึ้นรายสัปดาห์มากที่สุดในรอบเดือน
ค่าเงินยูโร ลดลงเล็กน้อย อยู่ที่ 1.1808 ค่าเงินปอนด์ ลดลงมาที่ 1.3822 ในขณะที่ ค่าเงินออสเตรเลีย เพิ่มขึ้น 0.1% เป็น 0.7435 แต่ลดลง 0.7% ในรอบสัปดาห์
ค่าเงินเยน เพิ่มขึ้น 0.1% มาอยู่ที่ 109.98 หลังจากที่ ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น คงอัตราดอกเบี้ยเดิมไว้ ขณะที่ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของปีงบประมาณปัจจุบันเป็น 3.8 % จาก 4.0% ในเดือนเมษายน
ผู้ติดเชื้อโควิดที่เพิ่มขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ทำให้เทรดเดอร์จำนวนมากหลีกเลี่ยงความเสี่ยงและหันเข้าหาเงินดอลลาร์
ในออสเตรเลีย เมลเบิร์นได้เข้าร่วมกับซิดนีย์ในการล็อคดาวน์ ซึ่งหมายความว่าประมาณ 40% ของประชากรในประเทศกำลังประสบปัญหาจากมาตรการควบคุม ขณะที่อินโดนีเซียกำลังต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิดครั้งร้ายแรงที่สุด ส่วนเกาหลีใต้ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยประสบความสำเร็จในการป้องกันการแพร่ระบาด กำลังทุกข์ทรมานจากการระบาดระลอกใหม่อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ญี่ปุ่นได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วกรุงโตเกียว ซึ่งหมายความว่า การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่จะเกิดขึ้นจะไม่มีผู้เข้าชม ขณะที่เมืองลอสแองเจลิสในสหรัฐก็ประกาศบังคับให้ทุกคนสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในอาคาร
ในขณะเดียวกัน แม้ว่านายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด จะพยายามลดความคาดหวังของการปรับนโยบายของเฟดให้เข้มงวดขึ้น แต่ตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงขึ้นและการเปลี่ยนแปลงในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยหลังจากที่เฟดส่งสัญญาณการปรับขึ้นภายในปี 2023 ก็เป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนค่าเงินดอลลาร์เช่นกัน
“จากการคาดการณ์ว่าเฟดจะเริ่มลดมาตรการ QE ในปลายปีนี้ บวกกับมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ที่ว่าวงจรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะเริ่มขึ้นในครึ่งหลังของปี 2022 (ด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยสองครั้ง) แนวโน้มขาลงของค่าเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศในกลุ่ม G10 ที่ให้ผลตอบแทนต่ำ (ซึ่งธนาคารกลางควรระมัดระวังทั้งในปีนี้และปีหน้า) มีอยู่ค่อนข้างจำกัด” นักวิเคราะห์จาก ING กล่าวในรายงาน
ในที่อื่น ๆ ค่าเงินนิวซีแลนด์ เพิ่มขึ้น 0.5% มาที่ 0.7014 หลังจาก ดัชนีราคาผู้บริโภค ของนิวซีแลนด์สำหรับไตรมาสที่สองขยายตัว 3.3% เมื่อเทียบปีต่อปีและ 1.3% เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส ซึ่งสูงที่สุดในรอบทศวรรษ โดยธนาคารกลางนิวซีแลนด์คาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนสิงหาคมนี้
ทางด้าน ค่าเงินแรนด์ของแอฟริกาใต้ ดีดตัวขึ้น 0.6% มาที่ 14.4697 ท่ามกลางสัญญาณบ่งชี้ว่า สถานการณ์รุนแรงภายในประเทศในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา อาจจะเริ่มลดลงบ้างแล้ว
ค่าเงินบาท อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดซื้อขายอยู่ที่ 32.740 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ