InfoQuest - นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 32.74 บาท/ดอลลาร์ ทรงตัวใกล้เคียง กับช่วงปิดตลาดเย็นวานนี้ เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับภูมิภาค โดยดอลลาร์กลับมาฟื้นตัวแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก เนื่องจากได้รับ ปัจจัยหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ประกาศเมื่อคืนออกมาดี บาทเคลื่อนไหวตามราคาทองในตลาดโลก และหลังจากมีข่าว รมว.คลัง นัดหารือกับผู้ว่า ธปท.ทำให้ตลาดเพิ่มความระมัด ระวังมากขึ้น ส่วนตัวเลขส่งออกที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศออกมาเมื่อวานดีกว่าคาด ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการค้าทองคำ โดยวันนี้ตลาดรอดูทิศ ทางการเคลื่อนไหวของเงินทุนระหว่างประเทศ "บาทยังมีทิศทางแข็งค่า หลังจากเมื่อวานแข็งค่าลงมาเร็วทำนิวโลว์ในรอบ 30 เดือน ทำให้มีแรงซื้อดอลลาร์กลับเข้ามา" นักบริหารเงิน กล่าว นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 32.65 - 32.85 บาท/ดอลลาร์ SPOT ล่าสุด อยู่ที่ระดับ 32.70875 บาท/ดอลลาร์
* ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยน อยู่ที่ระดับ 144.54 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 144.15 เยน/ดอลลาร์ - เงินยูโร อยู่ที่ระดับ 1.1137 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 1.1180 ดอลลาร์/ยูโร - อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 32.652 บาท/ดอลลาร์ - ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า เงินบาทวันที่ 25 ก.ย.67 แตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 30 เดือน หรือ 2 ปีครึ่งที่ 32.563 บาทต่อดอลลาร์ฯ นับตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค.65 โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค และจากการปรับตัวขึ้นของ ราคาทองคำ รวมทั้งดอลลาร์อ่อนค่าหลังคาดธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด มีโอกาสลดดอกเบี้ยลงมากกว่า 0.25% ในการประชุมครั้งถัด ไป ขณะที่ในระยะสั้นเงินบาทมีโอกาสแข็งค่า 32.10-32.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ - อสังหาฯผวาบาทแข็งยาว ฉุดกำลังซื้อต่างชาติ ห่วงคอนโดรอโอน Q4 กว่า 8.6 หมื่นล้านไม่มาตามนัด แนะ ธปท.ลด ดอกเบี้ย ประคองบาท ฟื้นเศรษฐกิจประเทศ REIC ชี้ดีมานด์ ตปท.สำคัญต่อตลาดที่อยู่อาศัยไทย - ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในรายงาน Asian Development Outlook ฉบับเดือน กันยายน 2567 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.3 ในปี 2567 จากที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดินเมษายนที่ร้อยละ 2.6 และมีการปรับลดประมาณการ เศรษฐกิจปี 2568 ลงจากร้อยละ 3 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.7 โดยคาดว่าภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนจะยังคงเป็นแรงสนับสนุน หลักต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ - "คลัง" ชี้บาทไทยแข็งค่าเร็วสุดในภูมิภาค เสียเปรียบการส่งออก ระบุกรอบเงินเฟ้อดอกเบี้ย ต้องปรับสนับสนุนนโยบาย รัฐ ตั้งความหวังเห็น นโยบายการเงินมาสนับสนุนนโยบายการเงินช่วยเศรษฐกิจโตมากขึ้น จี้ "แบงก์ชาติ" ทบทวนนโยบายการเงิน ระบุ นโยบายการคลังเหยียบคันเร่งเต็มที่แล้ว ธปท.ลั่น พร้อมแทรกแซงหากเงินบาทผันผวนผิดปกติ - ผลสำรวจของ Conference Board ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ ระดับ 98.7 ในเดือนก.ย. จากระดับ 105.6 ในเดือนส.ค. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 104.0 - นักลงทุนเพิ่มน้ำหนักเกือบ 60% ต่อคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือน พ.ย. หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทรุดหนักสุดในรอบกว่า 3 ปี - ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (25 ก.ย.) หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วน บุคคล (PCE) ของสหรัฐฯ และการแสดงความเห็นของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งรวมถึงเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ในสัปดาห์นี้ - สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันพุธ (25 ก.ย.) โดยได้แรงหนุนจากความหวังที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในปีนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์หลายรายคาดการณ์ว่า ราคาทองคำยังคงมีแนวโน้มที่แข็งแกร่งไปจนถึงปีหน้า - นักลงทุนจับตาการแสดงความเห็นของเจ้าหน้าที่เฟดหลายรายในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดที่มี กำหนดกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมว่าด้วยตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ในวันนี้ รวมถึงจับตาดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วน บุคคล (PCE) ประจำเดือนส.ค.ของสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องากสามารถตรวจ จับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)