InfoQuest - ดอลลาร์สหรัฐยังคงแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (8 พ.ค.) โดยดอลลาร์ปรับตัวตามทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ดีดตัวขึ้น ขณะที่นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของสหรัฐอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.13% แตะที่ 105.546
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 155.61 เยน จากระดับ 154.73 เยนในวันอังคาร (7 พ.ค.) และแข็งค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.9066 โครนา จากระดับ 10.8699 โครนา แต่ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9081 ฟรังก์ จากระดับ 0.9092 ฟรังก์ และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3731 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3734 ดอลลาร์แคนาดา
ส่วนยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0745 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0751 ดอลลาร์ในวันอังคาร และเงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2495 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2507 ดอลลาร์
เจ้าหน้าที่เฟดหลายรายได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย โดยนายนีล แคชแครี ประธานเฟดสาขามินเนอาโพลิส ระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่เฟดจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับปัจจุบันต่อไปอีกระยะเวลาหนึ่ง จนกว่าเฟดจะมีความมั่นใจว่าเงินเฟ้อกำลังปรับตัวไปสู่เป้าหมาย
นอกจากนี้ นายแคชคารีกล่าวว่า เขาคาดว่าในการประชุมนโยบายการเงินในเดือนมิ.ย. เขาจะระบุในคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ว่า เฟดอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2 ครั้งในปีนี้ หรืออาจไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเลย โดยขึ้นอยู่กับข้อมูลเงินเฟ้อที่ได้รับ
ทางด้านนางซูซาน คอลลินส์ ประธานเฟดสาขาบอสตันกล่าวว่า นโยบายการเงินของเฟดในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะช่วยให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงจนทำให้เงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2%
นักลงทุนจับตาข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของเฟด โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐมีกำหนดเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในวันที่ 14 พ.ค. และดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในวันที่ 15 พ.ค.