InfoQuest - นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ 36.78/79 บาท/ดอลลาร์ ค่อนข้างทรงตัวจาก เปิดตลาดเมื่อเช้าที่ระดับ 36.78 บาท/ดอลลาร์ โดยระหว่างวันเงินบาทยังไร้ปัจจัยใหม่ เคลื่อนไหวในกรอบ 36.78 - 36.85 บาท/ ดอลลาร์ "เงินบาทลงจากเมื่อวานค่อนข้างเยอะ เนื่องจากญี่ปุ่นออกมายอมรับว่ามีการแทรกแซงเงินเยน ทำให้เงินเยนแข็งค่า และ ดอลลาร์อ่อนค่า ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อเงินบาท ที่เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับสกุลเงินในภูมิภาคด้วย" นักบริหารเงิน กล่าว สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามคืนนี้ คือ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนเม.ย. ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่าจะลดลงจากครั้งก่อน ค่อนข้างมาก นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันอังคารไว้ที่ 36.75 - 37.00 บาท/ดอลลาร์
* ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยน อยู่ที่ระดับ 153.05/08 เยน/ดอลลาร์ จากเมื่อเช้าที่ระดับ 152.82 เยน/ดอลลาร์ - เงินยูโร อยู่ที่ระดับ 1.0743/0745 ดอลลาร์/ยูโร จากเมื่อเช้าที่ระดับ 1.0737 ดอลลาร์/ยูโร - ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ 1,369.92 จุด เพิ่มขึ้น 6.67 จุด (+0.49%) มูลค่าการซื้อขาย 37,512.00 ล้านบาท - สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 1,447.93 ล้านบาท - สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตรา เงินเฟ้อ เดือนเม.ย. 67 อยู่ที่ระดับ 108.16 หรือเพิ่มขึ้น 0.19% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งพลิกกลับมาเป็นบวกครั้งแรก หลังจากที่ติดลบต่อเนื่องมา 6 เดือน - ว่าที่รมช.คลัง กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ และความคืบหน้าในนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตว่า นโยบายนี้ คือ 1 นโยบายที่สร้างพายุ หมุน 4 ลูกทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เป็นนโยบายกระจายเงิน 10,000 บาทไปสู่ประชาชนที่อายุ 16 ปีขึ้นไป 50 ล้านคน จะส่งผล ให้เม็ดเงิน 500,000 ล้านบาท เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ได้แก่ พายุหมุนลูกแรก จากประชาชนสู่ร้านค้า, พายุหมุนลูกที่ 2 จากร้านค้าสู่ร้าน ค้า, พายุหมุนลูกที่ 3 จากร้านค้าสู่ภาคการผลิต และพายุหมุนลูกที่ 4 คือพายุของด้านเทคโนโลยี - หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ตลาดหุ้นสหรัฐของแบงก์ ออฟ อเมริกา คอร์ป (BofA) กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งจะทำให้ ตลาดหุ้นสหรัฐยังคงอยู่ในภาวะกระทิงต่อไปได้ แม้ไม่มีปัจจัยบวกจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ก็ตาม - นักเศรษฐศาสตร์รายหนึ่งกล่าวว่า การที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแนวโน้มว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยก่อนธนาคาร กลางสหรัฐ (เฟด) อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อกลุ่มประเทศยูโรโซน - ผลสำรวจในวันนี้ (3 พ.ค.) ระบุว่า บริษัทภาคบริการของอังกฤษรายงานว่า กิจกรรมภาคบริการปรับขึ้นแข็งแกร่ง ที่สุดในรอบเกือบ 1 ปีในเดือนเม.ย. แม้แรงกดดันด้านต้นทุนจะพุ่งทะยานขึ้นต่อเนื่องก็ตาม ซึ่งบ่งชี้ถึงเศรษฐกิจที่เติบโต อย่างแข็งแกร่งของอังกฤษ - ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐวันนี้ ได้แก่ ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนเม.ย., ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการ ขั้นสุดท้ายเดือนเม.ย.จากเอสแอนด์พี โกลบอล และดัชนีภาคบริการเดือนเม.ย.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM)