InfoQuest - ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (1 พ.ค.) โดยดอลลาร์ปรับตัวตามทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ชะลอตัวลง หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยตามคาดในการประชุมครั้งล่าสุด และนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดส่งสัญญาณว่า เฟดจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไปซึ่งจะมีขึ้นในเดือนมิ.ย.
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.44% แตะที่ระดับ 105.752
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 157.12 เยน จากระดับ 157.70 เยนในวันอังคาร (30 เม.ย.) นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9163 ฟรังก์ จากระดับ 0.9192 ฟรังก์, อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3707 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3761 ดอลลาร์แคนาดา และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.8983 โครนา จากระดับ 11.0069 โครนา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ที่ระดับ 1.0730 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0678 ดอลลาร์ในวันอังคาร ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2549 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2503 ดอลลาร์
คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.25-5.50% หลังเสร็จสิ้นการประชุมเมื่อวานนี้ (1 พ.ค.) ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ขณะที่เจ้าหน้าที่เฟดได้เน้นย้ำถึงความกังวลว่าข้อมูลที่มีการเปิดเผยนับตั้งแต่ต้นปี 2567 นั้น ไม่ได้ทำให้เฟดมีความมั่นใจมากขึ้นว่าเงินเฟ้อของสหรัฐจะปรับตัวลงสู่เป้าหมายที่ระดับ 2%
อย่างไรก็ดี นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดกล่าวในระหว่างการแถลงข่าวว่า แม้ว่าเฟดยังคงมุ่งเน้นในเรื่องการฉุดเงินเฟ้อให้ลดลงสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% แต่เฟดไม่มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไปซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 11-12 มิ.ย.
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีชะลอตัวลงสู่ระดับต่ำกว่า 4.6% หลังการแถลงข่าวของนายพาวเวล ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันต่อดอลลาร์
นอกจากนี้ นายพาวเวลยังกล่าวว่า ตลาดแรงงานของสหรัฐเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ โดยเขาระบุถึงข้อมูลที่มีการเปิดเผยล่าสุดเมื่อวานนี้ว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานลดลงแตะระดับระดับต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปี
สำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน ลดลง 325,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 8.488 ล้านตำแหน่งในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนก.พ.2564
ทั้งนี้ ตัวเลข JOLTS เป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสนใจ โดยมองว่าเป็นมาตรวัดภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยในการพิจารณานโยบายการเงิน และอัตราดอกเบี้ยของเฟด
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนเม.ย.ของสหรัฐในวันศุกร์นี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐจะเพิ่มขึ้นเพียง 243,000 ตำแหน่งในเดือนเม.ย. ซึ่งชะลอตัวลงหลังจากที่เพิ่มขึ้น 303,000 ตำแหน่งในเดือนมี.ค. และคาดว่าอัตราว่างงานจะทรงตัวที่ระดับ 3.8% ในเดือนเม.ย.