InfoQuest - ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (24 เม.ย.) หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่เงินเยนดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 34 ปี แม้ว่าทางการญี่ปุ่นส่งสัญญาณเตือนเกี่ยวกับการแทรกแซงตลาด
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.17% สู่ระดับ 105.857
เงินเยนดิ่งหลุดจากระดับ 155 เทียบดอลลาร์เมื่อคืนนี้ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 34 ปี ขณะที่นักลงทุนกังวลว่าหากเยนดิ่งลงทะลุระดับ 155 เทียบดอลลาร์ จะทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นเข้าทำการแทรกแซงตลาด
นายชุนอิจิ ซูซูกิ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่น ส่งคำเตือนอย่างชัดเจนที่สุดเกี่ยวกับโอกาสในการแทรกแซงตลาด โดยเขากล่าวว่า ในการประชุมรัฐมนตรีคลังสหรัฐ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่มีขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่ประชุมได้ปูทางสนับสนุนให้ญี่ปุ่นดำเนินการเพื่อสกัดการปรับตัวที่มากเกินไปของเยน
ก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราครั้งใหญ่ในเดือนต.ค.2565 โดยใช้วงเงินสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 6.35 ล้านล้านเยน (4.3 หมื่นล้านดอลลาร์) หรือราว 1.6 ล้านล้านบาท เพื่อพยุงค่าเงินเยนที่ทรุดตัวลงแตะระดับ 151.94 เทียบดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 32 ปี
ทั้งนี้ วงเงินดังกล่าวสูงกว่าจำนวนเงิน 2.84 ล้านล้านเยนที่ญี่ปุ่นใช้แทรกแซงตลาดในวันที่ 22 ก.ย.2565 ซึ่งเป็นการแทรกแซงครั้งแรกในรอบ 24 ปี
ส่วนดอลลาร์แข็งค่าขึ้น หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปีทะยานขึ้นเหนือระดับ 4.67% เมื่อคืนนี้ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปีพุ่งขึ้นทะลุระดับ 4.95%
นอกจากนี้ ดอลลาร์ได้รับแรงหนุนจากการที่นักลงทุนเลื่อนคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในปีนี้ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เป็นเดือนก.ย. จากเดิมที่คาดไว้ในเดือนมิ.ย. หลังนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด แสดงความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อสหรัฐที่ยังคงอยู่ในระดับสูง
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2567 ของสหรัฐในวันนี้ (25 เม.ย.) และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในวันศุกร์นี้ (26 เม.ย.) เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของเฟด
ทั้งนี้ ดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)