InfoQuest - ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันจันทร์ (1 เม.ย.) หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีภาคการผลิตที่แข็งแกร่งเกินคาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงยาวนานกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.46% แตะที่ระดับ 105.019
สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 50.3 ในเดือนมี.ค. จากระดับ 47.8 ในเดือนก.พ. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 48.1
ดัชนีภาคการผลิตเดือนมี.ค.ถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2565 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตของสหรัฐซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับผลกระทบจากภาวะอัตราดอกเบี้ยสูงนั้น เริ่มฟื้นตัวแล้ว
ทั้งนี้ ความแข็งแกร่งของดัชนีภาคการผลิตส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นทะลุระดับ 4.3% เมื่อคืนนี้ ขณะที่เครื่องมือ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักเพียง 58% ในการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิ.ย. ซึ่งลดลงจากระดับ 64% ในสัปดาห์ที่แล้ว
นักลงทุนจับตาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟดในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงการแสดงความเห็นของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนมี.ค.ของสหรัฐซึ่งมีกำหนดเปิดเผยในวันศุกร์นี้
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมี.ค.ของสหรัฐจะเพิ่มขึ้นเพียง 205,000 ตำแหน่ง ซึ่งชะลอตัวลงหลังจากที่เพิ่มขึ้น 275,000 ตำแหน่งในเดือนก.พ. และคาดว่าอัตราว่างงานจะทรงตัวที่ระดับ 3.9% ในเดือนมี.ค.
นอกเหนือจากตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรแล้ว นักลงทุนยังรอดูข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ ในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึง ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือนก.พ., ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนก.พ., ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนมี.ค.จาก ADP, ดัชนีภาคบริการเดือนมี.ค.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และดุลการค้าเดือนก.พ.