InfoQuest - ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (24 ม.ค.) ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ เพื่อประเมินทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.36% แตะที่ระดับ 103.240
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 4/2566 ของสหรัฐในวันนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า GDP ไตรมาส 4 ของสหรัฐจะขยายตัว 2.0% หลังจากขยายตัว 2.2%, 2.1% และ 4.9% ในไตรมาส 1, 2 และ 3 ตามลำดับ
นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอดูการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในวันศุกร์ โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าดัชนี PCE ทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะปรับตัวขึ้น 2.6% ในเดือนธ.ค. และคาดว่าดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะปรับตัวขึ้น 3.0% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายปี
ทั้งนี้ ดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ PMI ภาคการผลิตเบื้องต้นเดือนม.ค.ของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 50.3 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 15 เดือน จากระดับ 47.9 ในเดือนธ.ค. และดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้นเดือนม.ค.ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 52.9 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน จากระดับ 51.4 ในเดือนธ.ค.
ทั้งนี้ ดัชนี PMI ที่อยู่เหนือระดับ 50 บ่งชี้ว่า ทั้งภาคการผลิตและภาคบริการของสหรัฐมีการขยายตัว
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ดีดตัวขึ้นแตะระดับ 4.157% เมื่อคืนนี้ หลังดัชนี PMI ของสหรัฐพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้เฟดตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงยาวนานกว่าที่คาด
ผลการสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ และมีโอกาสเกิดขึ้นในเดือนมิ.ย.มากกว่าเดือนพ.ค.