InfoQuest - กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยข้อมูลในวันศุกร์ (22 ธ.ค.) บ่งชี้ว่า สัดส่วนของสกุลเงินดอลลาร์ในทุนสำรองของธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลกนั้น ลดลงในไตรมาส 3 (ก.ค.-ก.ย.) ของปีนี้ ขณะที่การถือครองเงินเยนญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า IMF เปิดเผยข้อมูลสัดส่วนทุนสำรองอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการ (Currency Composition of Official Foreign Exchange Reserves - COFER) ระบุว่า ดอลลาร์มีสัดส่วน 59.2% ในกองทุนสำรองเงินตราต่างประเทศทั่วโลกในไตรมาส 3/2566 ลดลงจาก 59.4% ในไตรมาส 2/2566 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ไตรมาส 4/2565
สัดส่วนของเงินยูโรในทุนสำรองเงินตราต่างประเทศลดลงเล็กน้อย สู่ 19.6% จาก 19.7% ขณะที่สัดส่วนของเงินเยนญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเป็น 5.5% จาก 5.3%
สำหรับสัดส่วนเงินหยวนของจีน, ปอนด์ของอังกฤษ, ดอลลาร์ออสเตรเลียและดอลลาร์แคนาดา รวมถึงฟรังก์สวิสนั้นแทบไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่สัดส่วนของกลุ่มสกุลเงินอื่น ๆ เพิ่มขึ้นสู่ 3.9% ของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ จาก 3.6% ในไตรมาส 2/2566
ขณะที่ดอลลาร์เป็นสกุลเงินสำรองของธนาคารกลางส่วนใหญ่ทั่วโลกเนื่องจากมีความแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพในตลาดโลกนั้น ดอลลาร์ก็ได้ลดความสำคัญลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปนับตั้งแต่ปี 2543 ซึ่งในเวลานั้นดอลลาร์มีสัดส่วนในทุนสำรองมากกว่า 70%
ความสำคัญของดอลลาร์ได้ช่วยให้ต้นทุนการกู้ยืมของสหรัฐอยู่ในระดับต่ำและสามารถดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุล ขณะที่ประเทศคู่ค้าใช้ดอลลาร์เพื่อลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ
นอกจากนี้ ความสำคัญของดอลลาร์ยังช่วยสนับสนุนบริษัทอเมริกัน เพราะการใช้ดอลลาร์อย่างกว้างขวางในการค้าโลก อาทิ ในการค้าน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์นั้น มักทำให้ดอลลาร์มีราคาถูกลงสำหรับการกู้ยืมของบริษัทข้ามชาติของสหรัฐ