InfoQuest - นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเย็นนี้อยู่ที่ 34.80 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากเปิดตลาดเมื่อ เช้าที่ระดับ 34.58 บาท/ดอลลาร์ ระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 34.58 - 34.80 บาท/ดอลลาร์ เงินบาทเคลื่อนไหวเช่นเดียวกับสกุลเงินในภูมิภาค ตามดอลลาร์สหรัฐฯ ประกอบกับวันนี้ต่างชาติซื้อพันธบัตรไทยค่อนข้างมา ประมาณ 6,400 ล้านบาท ในส่วนของผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยที่ออกมาว่า คงดอกเบี้ยที่ 2.50% ตามคาด จึงมีผลต่อเงินบาทค่อนข้างจำกัด นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันพรุ่งนี้ไว้ที่ 34.60 - 34.90 บาท/ดอลลาร์ ปัจจัยที่ต้อง ติดตามคืนนี้ คือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3/66 (ครั้งที่ 2) ของสหรัฐฯ THAI BATH SPOT RATE FIXING อยู่ที่ระดับ 34.733 บาท/ดอลลาร์
* ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยน อยู่ที่ระดับ 147.35 เยน/ดอลลาร์ จากเมื่อเช้าที่ระดับ 146.80 เยน/ดอลลาร์ - เงินยูโร อยู่ที่ระดับ 1.0990 ดอลลาร์/ยูโร จากเมื่อเช้าที่ระดับ 1.1013 ดอลลาร์/ยูโร - ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อปี พร้อมกันนี้ กนง. ยังประเมินว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยอยู่ในทิศทางที่ฟื้นตัว แม้ภาคการส่งออก และการผลิตที่เกี่ยวข้องจะชะลอลง โดยคาดว่าในปี 67 และ 68 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวอย่างสมดุลขึ้น จากอุปสงค์ในประเทศ การท่องเที่ยว และการฟื้นตัวของภาคการส่งออก ขณะ ที่เศรษฐกิจไทยในปี 66 นี้ กนง. คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.4% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 2.8% ส่วนปี 67 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว ได้ 3.2% แต่หากรวมผลของโครงการเงินดิจิทัลแล้ว คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.8% แต่ก็ยังลดลงจากที่เคยประเมินไว้ในการประชุม กนง. รอบก่อนที่ 4.4% - ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนต.ค. 66 ได้รับปัจจัยสนับสนุน จากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ และผู้ เยี่ยมเยือนชาวไทย รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง - ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) มองตลาดหุ้นไทยจะเริ่มฟื้นตัวได้ในช่วงกลางปี 67 เนื่องจาก Sentiment ธนาคารกลางทั่วโลกเริ่มทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง รวมไปถึงธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งคาดว่าจะเห็นการลดอัตรา ดอกเบี้ยลงได้ในช่วงปลายปี จะหนุนให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวขึ้น และสภาพคล่องที่ตึงตัวปรับตัวดีขึ้น - เจ้าหน้าที่เฟดระบุเมื่อวันอังคาร (28 พ.ย.) ว่า มีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่า นโยบายการเงินที่ดำเนินไปแล้วนั้นจะช่วยทำ ให้เงินเฟ้อกลับมาอยู่ภายใต้การควบคุมอีกครั้ง แต่ยืนยันว่าเงินเฟ้อยังคงสูงเกินไป - นักลงทุนจับตาสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3/2566 (ประมาณการครั้งที่ 2), รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ หรือ Beige Book จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนี ราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนต.ค. , ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (Pending Home Sales) เดือน ต.ค., ดัชนีภาคการผลิตเดือนพ.ย.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) และการใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเดือนต. ค.