InfoQuest - นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 34.97 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากช่วงเช้า เปิดตลาดอยู่ที่ระดับ 34.89 บาท/ดอลลาร์ โดยระหว่างวันเคลื่อนไหวในกรอบ 34.89 - 35.05 บาท/ดอลลาร์ วันนี้เงินบาทและสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาคต่างปรับตัว แข็งค่าเทียบกับดอลลาร์ หลังจากตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐฯ เมื่อคืนนี้ออกมาแย่กว่าคาด ส่งผลให้ดอลลาร์อ่อนค่าลง นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันพรุ่งนี้ไว้ที่ 34.95 - 35.15 บาท/ดอลลาร์ ตลาดรอติดตาม จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนก.ค. ของสหรัฐฯ คืนนี้ THAI BAHT SPOT RATE FIXING อยู่ที่ระดับ 34.9344 บาท/ดอลลาร์
* ปัจจัยสำคัญ - เงินเยนอยู่ที่ระดับ 145.81 เยน/ดอลลาร์ จากเมื่อเช้าที่ระดับ 145.83 เยน/ดอลลาร์ - เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0882 ดอลลาร์/ยูโร จากเมื่อเช้าที่ระดับ 1.0937 ดอลลาร์/ยูโร - ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยภาวะเศรษฐกิจไทยเดือนก.ค. ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว ตามการใช้จ่ายในประเทศ และภาคบริการ (การท่องเที่ยว) ที่ปรับดีขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากมีวันหยุดยาว ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นหลายหมวด ด้านมูลค่า การส่งออกลดลงตามอุปสงค์ของคู่ค้า ส่วนเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากหมวดพลังงานเป็นสำคัญ - ธปท. ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยเดือนส.ค. ยังต้องพึ่งพาการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ ขณะที่ภาคการส่ง ออกยังมีความเสี่ยง เนื่องจากยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนนัก โดยระยะต่อไป ต้องติดตาม 1.การชะลอของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า 2.นโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ และ 3. ผลกระทบของภาวะเอลนีโญต่อผลผลิตและราคาสินค้าเกษตร - ธปท. เผย ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบต่อไป (27 ก.ย.) มีโอกาสสูงที่จะปรับลด ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ลงจากระดับ 3.6% ที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนพ.ค. โดยมีสาเหตุหลักมาจากแนวโน้มการส่งออก ฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาด - สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ปรับประมาณการดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ปี 66 คาดหดตัว 2.8 - 3.8% และ GDP ภาคอุตสาหกรรมหดตัว 1.5-2.5% หลังดัชนี MPI 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) หดตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 4.5% ขณะที่ ดัชนี MPI เดือนก.ค. อยู่ที่ระดับ 91.14 ลดลง 4.43% ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) เดือนก.ค.66 อยู่ที่ 58.19% - China Beige Book International (CBBI) เผยการสำรวจภาวะเศรษฐกิจจีน พบว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคจีน ฟื้นตัวขึ้นในเดือนส.ค. หลังจากชะลอการใช้จ่ายในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่ง ในเดือนส.ค.นั้น ภาคบริการของจีนเกิด ปรากฏการณ์ "Revenge Spending" หรือ "ช็อปปิ้งล้างแค้น" ซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่ที่เกิดขึ้นหลังยุคโควิด-19 - CME Group ระบุว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 89% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมเดือน ก.ย. ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการสำรวจก่อนหน้านี้ที่ระดับ 86% นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 54% ที่เฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิม ในการประชุมเดือนพ.ย. ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการสำรวจก่อนหน้านี้ที่ระดับ 52%