InfoQuest - ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (1 ส.ค.) ขานรับข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ ขณะที่นักลงทุนจับตาข้อมูลแรงงานของสหรัฐในสัปดาห์นี้ รวมทั้งถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.45% แตะที่ 102.3056
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 143.3900 เยน จากระดับ 142.2640 เยนในวันจันทร์ (31 ก.ค.) ขณะเดียวกันก็แข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8755 ฟรังก์ จากระดับ 0.8718 ฟรังก์, แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3291 ดอลลาร์ แคนาดา จากระดับ 1.3176 ดอลลาร์แคนาดา และแข็งค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.6123 โครนา จากระดับ 10.5112 โครนา
ส่วนยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ะรดับ 1.0974 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0999 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2772 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2837 ดอลลาร์
ดอลลาร์ได้รับแรงหนุน หลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายเดือน ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.6% หลังจากเพิ่มขึ้น 1.1% ในเดือนพ.ค.
เมื่อเทียบรายปี การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างพุ่งขึ้น 3.5% ในเดือนมิ.ย.
ส่วนการใช้จ่ายในโครงการภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนมิ.ย., การใช้จ่ายในโครงการภาคสาธารณะเพิ่มขึ้น 0.3%, การใช้จ่ายในโครงการของรัฐบาลกลางเพิ่มขึ้น 0.8% และการใช้จ่ายในโครงการของรัฐบาลในมลรัฐและรัฐบาลท้องถิ่นเพิ่มขึ้น 0.3%
ทางด้านสำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) ประจำเดือนมิ.ย. พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน ลดลง 34,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 9.582 ล้านตำแหน่งในเดือนมิ.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 9.610 ล้านตำแหน่ง และต่ำกว่าระดับ 9.616 ล้านตำแหน่งที่มีการปรับค่าแล้วในเดือนพ.ค.
ทั้งนี้ แม้ว่าตัวเลขดังกล่าวเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปีนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2564 แต่ตลาดงานยังคงถือว่าตึงตัว แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดดีมานด์ก็ตาม โดยตัวเลข JOLTS นับเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสนใจ โดยมองว่าเป็นมาตรวัดภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยในการพิจารณานโยบายการเงิน และอัตราดอกเบี้ยของเฟด
นักลงทุนจับตาข้อมูลแรงงานของสหรัฐในสัปดาห์นี้ เพื่อประเมินทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด โดยในวันนี้จะมีการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนก.ค.จาก ADP และวันพฤหัสบดีจะเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
ส่วนในวันศุกร์ กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 200,000 ตำแหน่งในเดือนก.ค. หลังจากที่เพิ่มขึ้น 209,000 ตำแหน่งในเดือนมิ.ย. และคาดว่าอัตราว่างงานจะทรงตัวที่ระดับ 3.6% ในเดือนก.ค.