InfoQuest - นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 34.01 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจาก ช่วงเช้าที่เปิดตลาดที่ระดับ 33.85 บาท/ดอลลาร์ ระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 33.75-34.07 บาท/ดอลลาร์ โดยปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเคลื่อนไหวของเงินบาท ในวันนี้ มาจากสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ รวมทั้งทิศทางเงินหยวนที่แข็งค่าขึ้น "หลังจากที่ระหว่างวันเงินบาทแข็งค่าไปที่ 33.75 บาท และไม่ได้ย่อตัวลงไปมากกว่านี้ ก็ทำให้มีแรงซื้อดอลลาร์กลับมา" นัก บริหารเงินระบุ คืนนี้ ตลาดรอดูการรายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ ขณะที่ภาพรวมยังต้องติดตามสถานการณ์ทาง การเมืองในประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในช่วงนี้ นักบริหารเงิน คาดว่า พรุ่งนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 33.75 - 34.07 บาท/ดอลลาร์
* ปัจจัยสำคัญ - เงินเยนอยู่ที่ระดับ 139.53 เยน/ดอลลาร์ จากเมื่อเช้าที่ระดับ 139.17 เยน/ดอลลาร์ - เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1212 ดอลลาร์/ยูโร จากเมื่อเช้าที่ระดับ 1.1227 ดอลลาร์/ยูโร - ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,521.18 จุด ลดลง 15.46 จุด (-1.01%) มูลค่าการซื้อขาย 45,332 ล้านบาท - สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 1,802.93 ลบ.(SET+MAI) - "เศรษฐา ทวีสิน" ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และแคนดิเดทนายกรัฐมนตรี ระบุ พรรคที่จะเสนอชื่อ โหวตแคนดิเดตนายกฯ ในครั้งต่อไป จะต้องไม่มีเรื่องของการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 เพราะชัดเจนแล้วว่าจะไม่ได้รับการ สนับสนุนจาก สว.รวมถึงพรรคการเมืองอื่น - แบงก์ ออฟ อเมริกา โกลบอล รีเสิร์ช (BofA Global Research) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจ จีนปี 2566 ลงสู่ระดับ 5.1% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 5.7% หลังจากจีนเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2 ที่น่าผิดหวัง และทางการจีนมีแนวโน้มที่จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าช้ากว่าที่คาดไว้ - รัฐบาลญี่ปุ่น ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจสำหรับปี 2566 ลงมาอยู่ที่ 1.3% จากเดิมคาดไว้ที่ 1.5% ขณะที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะสูงกว่าเป้าหมาย 2% ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า มุมมองของญี่ปุ่นเกี่ยว กับภาวะเงินฝืดกำลังเปลี่ยนไป - กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เผยการถอนตัวของรัสเซียออกจากข้อตกลงเปิดเส้นทางส่งออกธัญพืชของ ยูเครนผ่านทางทะเลดำนั้น ได้ซ้ำเติมวิกฤตความไม่มั่นคงทางอาหาร และอาจผลักดันให้ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน หมู่ประเทศที่มีรายได้ต่ำ - สำนักงานสถิติเยอรมนี รายงานดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของเยอรมนีปรับตัวขึ้น 0.1% ในเดือน มิ.ย.เมื่อเทียบ เป็นรายปี ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าอาจจะทรงตัว ขณะที่ดัชนี PPI เดือน พ.ค.ปรับตัวขึ้น 1.0% เมื่อเทียบเป็นรายปี