InfoQuest - นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 34.65 บาท/ดอลลาร์ ทรงตัวจาก ช่วงเช้าที่เปิดตลาดที่ระดับ 34.65 บาท/ดอลลาร์ ระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 34.61-34.72 บาท/ดอลลาร์ โดยอ่อนค่าเล็กน้อยในระหว่างวัน หลังจากที่จีน รายงานตัวเลข GDP ไตรมาส 2/66 ซึ่งออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ "ระหว่างวันเงินบาทแกว่งข้างและอ่อนค่าลงไปเล็กน้อย เช่นเดียวกับเงินสกุลอื่นในภูมิภาค หลังจากที่ GDP ไตรมาส 2 ของ จีนออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาด" นักบริหารเงินระบุ ส่วนปัจจัยคืนนี้ ติดตามการรายงานดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing Index) เดือนก.ค. จาก เฟดนิวยอร์ก ขณะที่การเมืองในประเทศกรณีโหวตนายกรัฐมนตรี วันที่ 19 ก.ค.นี้ ยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามต่อเนื่อง นักบริหารเงิน คาดว่า พรุ่งนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 34.50 - 34.80 บาท/ดอลลาร์
* ปัจจัยสำคัญ - เงินเยนอยู่ที่ระดับ 138.14 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 138.53 เยน/ดอลลาร์ - เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1214 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.1219 ดอลลาร์/ยูโร - ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,528.77 จุด เพิ่มขึ้น 10.85 จุด (+0.71%) มูลค่าการซื้อขาย 46,463 ล้านบาท - สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติซื้อสุทธิ 836.13 ลบ.(SET+MAI) - คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นัดประชุมในวันที่ 19 ก.ค.66 เวลา 09.30 น. โดยมีวาระการประชุมที่สำคัญ คือ พิจารณาคำร้องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพ ส. ส.ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ โดยจะพิจารณาว่าจะ รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ - รมว.คลังสหรัฐ แสดงความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับจีนในภาคส่วนต่างๆ ที่มีความสนใจร่วมกัน ซึ่งรวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้ ให้กับบรรดาประเทศยากจน พร้อมระบุว่า สหรัฐฯ และจีน จำเป็นต้องปฏิรูปธนาคารเพื่อการพัฒนาพหุภาคี ก่อนที่จะมีการพิจารณาเพิ่มทุน - สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานในวันนี้ (17 ก.ค.) ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตร มาสที่ 2 ของปี 2566 ขยายตัว 6.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งแม้ว่าขยายตัวรวดเร็วขึ้นจากระดับ 4.5% ในไตรมาส 1 แต่ตัวเลข ดังกล่าวยังต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 7.3% - เจพีมอร์แกนปรับลดการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนสำหรับปี 2566 หลังจากเศรษฐกิจจีนเติบโตในอัตราที่ อ่อนแอลงในไตรมาสที่ 2/2566 โดยเศรษฐกิจจีนชะลอตัวอย่างรวดเร็ว หลังเพิ่งฟื้นตัวจากโรคโควิด-19 ได้ไม่นาน - ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) เปิดเผยว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ BOK จะต้องบริหารจัดการเสถียรภาพทางการเงิน และความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ เนื่องจากหนี้สินภาคครัวเรือนของประเทศเริ่มสูงขึ้น โดยหนี้สินภาคครัวเรือนของเกาหลีใต้เดือนมิ.ย.66 พุ่ง ขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และเพิ่มขึ้นมากสุดในรอบ 21 เดือน เนื่องจากอุปสงค์สินเชื่อเพื่อที่อยู่ อาศัยเพิ่มมากขึ้น - ผู้ว่าการธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) ส่งสัญญาณว่า การใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินต่อไปนั้น ยังเป็นสิ่งจำเป็นต่อ ภาพรวมเศรษฐกิจ และเห็นว่าขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะพูดถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย พร้อมกันนี้ จะจับตาความเสี่ยงต่างๆ ที่จะทำ ให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น เช่น ค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ผลกระทบจากเอลนีโญที่มีต่ออุปทานอาหาร และการอ่อนค่าอย่างรวดเร็วของเงินเปโซ