InfoQuest - ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (13 ก.ค.) โดยดัชนีดอลลาร์ร่วงหลุดจากระดับ 100 หลังจากสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ขยายตัวในอัตราต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ปี ซึ่งอาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ใกล้ยุติวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.75% แตะที่ 99.7696
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 138.0260 เยน จากระดับ 138.3180 เยนในวันพุธ (12 ก.ค.) ขณะเดียวกันก็อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8587 ฟรังก์ จากระดับ 0.8670 ฟรังก์, อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3108 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3192 ดอลลาร์แคนาดา และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.2078 โครนา จากระดับ 10.3800 โครนา
ส่วนยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1220 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1137 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3129 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2991 ดอลลาร์
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต เพิ่มขึ้นเพียง 0.1% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือนพ.ค.ที่มีการขยายตัว 0.9% และเป็นการขยายตัวในอัตราต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนส.ค. 2563
ข้อมูลดังกล่าวเป็นหลักฐานล่าสุดที่บ่งชี้ว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในสหรัฐกำลังอ่อนแรงลง หลังจากเมื่อวันพุธที่ผ่านมา สหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ชะลอตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี ซึ่งทำให้นักลงทุนมีความหวังว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเพียง 1 ครั้งในปีนี้ ก่อนที่จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 92.4% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 25-26 ก.ค. นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 42.2% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 30-31 ม.ค. 2567 โดยให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นจากระดับ 18.0% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
สำหรับเปิดเผยข้อมูลแรงงานเมื่อคืนนี้ ซึ่งบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานของสหรัฐยังคงอยู่ในภาวะตึงตัว โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 12,000 ราย สู่ระดับ 237,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 250,000 ราย