InfoQuest - นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 34.81/83 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่า จากเปิดตลาดเมื่อเช้าที่ระดับ 34.97 บาท/ดอลลาร์ ระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 34.80 - 35.00 บาท/ดอลลาร์ เงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่องจากเมื่อวานนี้ โดยยังย่อยข่าวเมื่อคืนที่เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ให้ความเห็นว่าจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ย ทั้งนี้ นักลงทุนคาดการณ์ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ ที่จะเปิดเผยในวันพรุ่งนี้ จะลดเหลือ 3.1% จากเดิม 4% ขณะเดียวกัน นักลงทุนรอติดตามการเลือกนายกรัฐมนตรีของไทยในวันที่ 13 ก.ค.นี้ด้วย ว่าจะราบรื่นหรือมีเหตุการณ์ที่ ทำให้ค่าเงินผันผวนหรือไม่ ด้านสกุลเงินในภูมิภาควันนี้ยังผันผวนในกรอบ "ปัจจัยที่เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่า คือ ถ้าตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าที่คาดหรือยังอยู่ในระดับสูง เฟดอาจ พิจารณาให้ปรับขึ้นดอกเบี้ย มีโอกาสทำให้ดอลลาร์กลับมาแข็งค่าได้ และยังมีแรงกดดันเรื่องการเมืองในประเทศ ที่นักลงทุนจับตา เรื่องโหวตนายกฯ ด้วย" นักบริหารเงิน กล่าว สำหรับคืนนี้ ต้องติดตามเจ้าหน้าที่เฟด ออกมาให้ความคิดเห็นเรื่องนโยบายทางการเงิน และทิศทางอัตราดอกเบี้ย นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันพรุ่งนี้ไว้ที่ 34.70 - 34.95 บาท/ดอลลาร์
* ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยนอยู่ที่ระดับ 140.46/47 เยน/ดอลลาร์ จากเมื่อเช้าที่ระดับ 141.12 เยน/ดอลลาร์ - เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1007/1009 ดอลลาร์/ยูโร จากเมื่อเช้าที่ระดับ 1.1011 ดอลลาร์/ยูโร - ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,496.96 จุด เพิ่มขึ้น 0.07 จุด (+0.00%) มูลค่าการซื้อขาย 34,189 ล้านบาท - สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 483.75 ลบ. (SET+MAI) - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศวางมือทางการเมือง และลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรครวม ไทยสร้างชาติ (รทสช.) - หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) เผยผลการประชุม 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลว่า ในการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 13 ก.ค. 66 เพื่อลงมติให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี ที่ประชุมยืนยันชัดเจนให้ความเห็นชอบนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ก้าวไกลและแคนดิเดทนายกรัฐมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมอบหมายให้พรรคเพื่อไทยเป็นผู้เสนอชื่อ - ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประมาณการ GDP ปี 66 ไว้ที่ 3.7% และคงตัวเลขการส่งออกไว้ที่ -1.2% แต่ปรับลด การบริโภคภาครัฐบาลและการลงทุน เนื่องจากยังอยู่ในช่วงที่รอการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่มีความซับซ้อน ซึ่งเป็น โจทย์ที่รอการแก้ไข ขณะเดียวกัน ได้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปี 66 เป็น 2.25% จากเดิมคาดว่าอยู่ที่ 2.00% พร้อม คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ 1.8% ส่วนค่าเงินบาทปีนี้ คาดเฉลี่ยที่ 33.50 - 34.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ - ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำประจำเดือน ก.ค.66 อยู่ที่ระดับ 53.65 ปรับลดลง 12.06 จุด หรือ 18.36% เมื่อ เทียบกับเดือน มิ.ย. 66 ที่ระดับ 65.71 จุด โดยมีปัจจัยมาจากความกังวลเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง สหรัฐฯ (เฟด) รายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ปรับตัวดีขึ้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น การแข็งค่า ของเงินบาท และปริมาณความต้องการทองคำที่ลดลง - ผู้อำนวยการสำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดการณ์ว่า อุปสงค์น้ำมันจากจีนและประเทศกำลังพัฒนา ประกอบกับ การที่กลุ่มโอเปกพลัสปรับลดการผลิตน้ำมันนั้น อาจจะทำให้ตลาดน้ำมันโลกเผชิญภาวะอุปทานตึงตัวในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ แม้ เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงก็ตาม - สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ (ONS) เปิดเผยว่า ค่าจ้างในอังกฤษ ยังคงเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจาก เงินเฟ้อที่ยังคงสูง แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะร่วงลงมาจากระดับสูงสุดที่เกินกว่า 10% ในช่วงปลายปีที่แล้ว แต่ก็ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ที่ ระดับ 8.7% โดยความล้มเหลวในการฉุดเงินเฟ้อลงทำให้เกิดความวิตกกังวลว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) จะยังคงเดินหน้า ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไปในอีกหลายเดือนข้างหน้า - นักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทโนมูระ คาดว่า ธนาคารกลางหลายแห่งในเอเชีย อาจจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็ว กว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) - นักวิเคราะห์จากธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ได้แสดงมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับทิศทางราคาบิตคอยน์ โดยคาดว่า ราคาบิตคอยน์จะทะยานขึ้นแตะระดับ 120,000 ดอลลาร์ภายในสิ้นปี 2567 ซึ่งคิดเป็นเกือบ 4 เท่าของราคาในปัจจุบัน เนื่องจาก นักขุดบิตคอยน์ที่ร่ำรวยเงินสดนั้น มีแนวโน้มที่จะลดการขายเหรียญบิตคอยน์ - จีนส่งสัญญาณที่จะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในเร็วๆ นี้ หลังจากที่ออกมาตรการพยุงตลาดอสังหาริมทรัพย์ ที่กำลังทรุดตัวลงด้วยการขยายเวลาชำระคืนเงินกู้ให้แก่บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์