InfoQuest - ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (7 มิ.ย.) หลังจากมีรายงานว่าสหรัฐขาดดุลการค้าสูงสุดในรอบ 6 เดือน ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐ และการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์หน้า
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.03% แตะที่ระดับ 104.0906
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3371 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3401 ดอลลาร์แคนาดา และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.8915 โครนา จากระดับ 10.9108 โครนา แต่ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9095 ฟรังก์ จากระดับ 0.9076 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 140.0830 เยน จากระดับ 139.6570 เยน
ส่วนยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0703 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0694 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2441 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2430 ดอลลาร์
ดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อย หลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขขาดดุลการค้าภาคสินค้าและบริการของสหรัฐเพิ่มขึ้น 23% สู่ระดับ 7.46 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 7.58 หมื่นล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ การนำเข้าเพิ่มขึ้น 1.5% สู่ระดับ 3.236 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่การส่งออกลดลง 3.6% สู่ระดับ 2.490 แสนล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ดี ดอลลาร์ได้รับแรงหนุนจากกระแสคาดการณ์ที่ว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปีและ 10 ปีพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ หลังจากธนาคารกลางแคนาดาประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.75% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี ส่งผลให้เกิดกระแสคาดการณ์ว่าเฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้เช่นกัน
ขณะที่ธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.10% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 11 ปี และสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าธนาคารกลางจะตรึงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ที่ระดับ 3.85%
FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนัก 30% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย. ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 21.8% และให้น้ำหนัก 69% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ที่ 5.00-5.25% ซึ่งลดลงจากระดับ 77%
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนพ.ค.ของสหรัฐในวันอังคารที่ 13 มิ.ย. และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ประจำเดือนพ.ค.ในวันพุธที่ 14 มิ.ย. โดยดัชนี CPI เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค และดัชนี PPI เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต