โดย Ambar Warrick
Investing.com – ค่าเงินเอเชียอ่อนค่าลงในวันอังคาร ท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ที่มีมากขึ้น ในขณะเดียวกัน เงินดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงหลังจากที่ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ดังเดิม และส่งสัญญาณว่าเงินเฟ้อของประเทศอาจเดินทางมาถึงจุดสูงสุดแล้ว
ดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลง 0.3% หลังจาก RBA ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 3.60% ในการประชุมดอกเบี้ยที่นักลงทุนจับตามองอย่างใกล้ชิด ธนาคารกลางฯ กล่าวว่ากำลังรอสังเกตผลกระทบทั้งหมดของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่มีผลต่อเศรษฐกิจตลอดทั้งปี RBA คาดว่า เงินเฟ้ออาจจะขึ้นมาถึงจุดสูงสุดแล้วหลังจากที่เคยแตะระดับสูงสุดในรอบ 30 ปีไปเมื่อเดือนธันวาคม
ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อออสเตรเลียปรับตัวลดลงมาเป็นเวลาสองเดือนติดต่อกันจากจุดสูงสุดดังกล่าวในเดือนธันวาคม แต่ระดับเงินเฟ้อก็ยังสูงกว่ากรอบเป้าหมายของ RBA ที่ 2-3% ด้วยเหตุนี้ ธนาคารกลางฯ จึงเตือนว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจยังจำเป็นเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อที่แข็งแกร่งให้ลงมาได้
ถึงกระนั้น แนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยที่ยังทรงตัวก็ส่งผลกระทบต่อสกุลเงินออสเตรเลีย เช่นเดียวกับคำเตือนเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจจาก RBA
สกุลเงินเอเชียในภาพรวมปรับตัวลง เงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงอีกในชั่วข้ามคืนเพราะข้อมูลตัวเลขภาคการผลิตที่อ่อนแอและราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น สถานการณ์นี้ได้เพิ่มความไม่แน่นอนต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้
หยวนจีนอ่อนค่าลง 0.1% เพราะข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจในวันจันทร์แสดงให้เห็นว่าการฟื้นตัวของภาคการผลิตจีนกำลังหมดลงเพราะอุปสงค์ทั่วโลกลดลง
ข้อมูลการผลิตที่อ่อนแอจากญี่ปุ่นยังส่งผลต่อค่าเงินเยนให้ปรับตัวลดลง 0.3% ตัวเลข กิจกรรมการผลิตยังคงหดตัวเป็นเวลาห้าเดือนติดต่อกัน
ดัชนีดอลลาร์และดัชนีดอลลาร์ฟิวเจอร์สในวันอังคารยังทรงตัว หลังจากปรับตัวลดลงมาตลอดทั้งคืน ข้อมูลตัวเลขกิจกรรมภาคการผลิตที่หดตัวต่ำกว่าคาดแสดงให้เห็นภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะกลาง
ตัวเลขเศรษฐกิจนี้ทำให้ตลาดต้องประเมินอีกครั้งว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ มีโอกาสมากน้อยเพียงใดในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไป ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นจะหนุนให้ต้นทุนเชื้อเพลิงสูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นตาม
แม้ว่าโอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยมีน้อยลงซึ่งจะเป็นผลดีต่อสกุลเงินเอเชีย แต่นักลงทุนยังคงระมัดระวังการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น
เงินบาทปรับตัวลดลง 0.2% ในขณะที่เงินรูปีอินเดียและวอนเกาหลีใต้ปรับตัวลดลง 0.1% และ 0.4% ตามลำดับ เงินวอนยังได้รับแรงกดดันจากข้อมูลตัวเลขเงินเฟ้อที่ลงต่ำกว่าที่คาดเล็กน้อย ซึ่งให้ความเชื่อมั่นว่าการประชุมอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางแห่งประเทศเกาหลีใต้จะออกมาเป็นการหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่มีมาตั้งแต่ช่วงต้นปีมีมากขึ้น
ความสนใจของนักลงทุนในสัปดาห์นี้จะไปอยู่ที่การรายงานข้อมูลตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐฯ ซึ่งจะมีการประกาศในวันศุกร์นี้ นักลงทุนจะใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อประเมินนโยบายการเงินของเฟดเพิ่มเติม การประชุมอัตราดอกเบี้ยของอินเดียก็จะเกิดขึ้นในสัปดาห์นี้ด้วย โดยที่นักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางอินเดียจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง