InfoQuest - นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 34.81 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจาก ช่วงเช้าที่เปิดตลาดที่ระดับ 35.23 บาท/ดอลลาร์ ระหว่างวันแกว่งกว้างในช่วง 34.75-35.36 บาท/ดอลลาร์ เงินบาทเย็นนี้กลับมาแข็งค่าจากช่วงเช้า สอดคล้องกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค หลังจากที่จีนประกาศดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนก.พ. ออกมาดีเกินคาด "ระหว่างวัน เงินบาทผันผวนสูงมาก แกว่งค่อนข้างกว้าง เป็นการแข็งค่ากลับมาทั้งภูมิภาค นำโดยเงินหยวนของจีน หลังจาก ที่จีนรายงานดัชนี PMI ออกมาดีเกินคาด ทำให้ตลาดกลับทิศ" นักบริหารเงิน ระบุ นักบริหารเงิน คาดว่า พรุ่งนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 34.65 - 35.00 บาท/ดอลลาร์ ตลาดรอดูการรายงานดัชนี ภาคการผลิตเดือนก.พ.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) คืนนี้ และรายงานตัวเลขการส่งออกของไทยเดือน ก.พ. จากกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า การส่งออกก.พ. -3%
* ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยนอยู่ที่ระดับ 135.82 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 136.28 เยน/ดอลลาร์ - เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0640 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.0578 ดอลลาร์/ยูโร - ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,619.98 จุด ลดลง 2.37 จุด (-0.15%) มูลค่าการซื้อขาย 59,129.23 ล้านบาท - สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 3,042.32 ลบ. (SET+MAI) - แบงก์ชาติ เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนก.พ.66 ปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 50 ได้เป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน โดยอยู่ที่ระดับ 50.6 เพิ่มขึ้นจากระดับ 49.8 ในเดือนม.ค.66 ตามความเชื่อมั่นด้านผลประกอบการ คำสั่งซื้อ และการจ้างงานที่ปรับเพิ่ม ขึ้นเป็นสำคัญ และเป็นการปรับดีขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นทั้งในภาคที่มิใช่การผลิตและภาคการผลิต - คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดว่าการส่งออกของไทยในปี 66 มีโอกาสหดตัวในกรอบ -1 ถึง 0% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 1-2% สอดคล้องกับการส่งออกประเทศคู่แข่งของไทยในภูมิภาคที่มีทิศทางหดตัวเช่นเดียวกันโดยได้รับผล กระทบจากกิจกรรมภาคการผลิตของโลกที่ยังอยู่ในภาวะหดตัว รวมถึงการปรับสมดุลระดับสินค้าคงคลัง หลังจากความต้องการสินค้าที่เคยได้ อานิสงส์จากโควิด-19 อยู่ในช่วงขาลง - กกร. มองว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่เกิด technical recession (ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในเชิงเทคนิค) แม้ว่าการเติบ โตของเศรษฐกิจไทย ในไตรมาส 4/65 จะหดตัว 1.5% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/65 โดยมองว่า การท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหลักในการ สนับสนุนเศรษฐกิจในไตรมาสแรกให้ฟื้นตัวได้ พร้อมคาดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี จะเพิ่มสูงถึง 25-30 ล้านคน - กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า แม้ปีนี้จะเป็นอีกปีที่ท้าทาย แต่ก็อาจเป็นจุดเปลี่ยนได้เช่นกัน เนื่องจาก เงินเฟ้อเริ่มลดลง และการเติบโตทางเศรษฐกิจฟื้นตัวหลังแตะจุดต่ำสุด โดยแม้ว่าจะคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกปี 66 มีแนวโน้มขยายตัว แบบชะลอตัวที่ 2.9% แต่คาดการณ์ว่าในปี 67 เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวขึ้นพอสมควรสู่การขยายตัวที่ 3.1% - พรรคคอมมิวนิสต์จีน มีกำหนดเปิดการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) ในวันที่ 5 มี.ค.นี้ และจะมีการปรับคณะ บริหารรัฐบาลครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 10 ปี โดยมีการคาดการณ์ว่า รัฐบาลจีนอาจจะกำหนดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2566 ไว้ ในกรอบ 5-6% เพื่อควบคุมอัตราว่างงานไม่ให้สูงเกินไป - สำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลีย (ABS) เผย GDP ไตรมาส 4/65 ขยายตัวเพียง 0.5% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาด การณ์ที่ระดับ 0.8% ทั้งนี้ GDP ไตรมาส 4 ขยายตัวในอัตราอ่อนแอที่สุดในรอบ 1 ปี เนื่องจากผลกระทบจากการที่ธนาคารกลาง ปรับขึ้น อัตราดอกเบี้ย และภาวะเงินเฟ้อสูง