InfoQuest - ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (1 ก.พ.) หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ตามคาด และนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดระบุว่า เงินเฟ้อในสหรัฐเริ่มชะลอตัวลง
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.9% แตะที่ระดับ 101.1840
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 128.81 เยน จากระดับ 130.16 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9093 ฟรังก์ จากระดับ 0.9158 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3297 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3307 ดอลลาร์แคนาดา และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.3522 โครนา จากระดับ 10.4657 โครนา
ส่วนยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0983 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0863 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2376 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2321 ดอลลาร์
คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเป็นเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 4.50-4.75% ในการประชุมเมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.2550
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 8 ติดต่อกันนับตั้งแต่ที่เฟดเริ่มวัฏจักรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค.2565
ทางด้านนายเจอโรม พาวเวล กล่าวในระหว่างการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า เงินเฟ้อในสหรัฐเริ่มชะลอตัวลงและภาวะเงินเฟ้อต่ำเริ่มปรากฎให้เห็นแล้วในขณะนี้ ซึ่งนักลงทุนมองว่านายพาวเวลส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเพียง 2 ครั้งเท่านั้น
ทั้งนี้ หลังจากการแถลงข่าวของนายพาวเวล ตลาดการเงินคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุด (terminal rate) ของเฟดจะอยู่ที่ 4.892% ภายในเดือนมิ.ย. ซึ่งลดลงจากระดับ 4.92% ก่อนการแถลงข่าวของนายพาวเวล
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 47.4 ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2563
ทางด้านสำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน เพิ่มขึ้น 572,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 11.0 ล้านตำแหน่งในเดือนธ.ค. สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าลดลงสู่ระดับ 10.25 ล้านตำแหน่ง จากระดับ 10.44 ล้านตำแหน่งในเดือนพ.ย.
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันพรุ่งนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้นเพียง 187,000 ตำแหน่งในเดือนม.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 223,000 ตำแหน่งในเดือนธ.ค. และคาดว่าอัตราว่างงานจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.6% ในเดือนม.ค. จากระดับ 3.5% ในเดือนธ.ค.