InfoQuest - ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (24 ม.ค.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ซบเซา นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังถูกกดดันจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์หน้า
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.19% แตะที่ 101.9150
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 130.02 เยน จากระดับ 130.66 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3362 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3383 ดอลลาร์แคนาดา
นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังอ่อนค่าเมื่อเทียบกับโครนสวีเดน ที่ระดับ 10.2009 โครนา จากระดับ 10.2548 โครนา แต่แข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9230 ฟรังก์ จากระดับ 0.9223 ฟรังก์
ส่วนยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0884 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0860 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2338 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2371 ดอลลาร์
ดอลลาร์อ่อนค่าลงหลังจากเอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 46.6 ในเดือนม.ค. จากระดับ 45.0 ในเดือนธ.ค. แต่ดัชนี PMI ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคธุรกิจของสหรัฐอยู่ในภาวะหดตัว และเป็นการหดตัวติดต่อกันเดือนที่ 7
นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังถูกกดดันจากการคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% ในการประชุมวันที่ 31 ม.ค.-1 ก.พ. หลังการเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) และดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว
นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงการเปิดเผยตัวเลขประมาณการเบื้องต้นของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 4/2565 ในวันพฤหัสบดีนี้
ส่วนในวันศุกร์จะมีการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค อีกทั้งมีความครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)