InfoQuest - นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 32.74/76 บาท/ดอลลาร์ จากเปิด ตลาดเมื่อเช้าที่ระดับ 32.63 บาท/ดอลลาร์ โดยระหว่างวันเงินบาทยังไร้ปัจจัยใหม่ เคลื่อนไหวในกรอบ 32.60 - 32.85 บาท/ ดอลลาร์ ด้านสกุลเงินในภูมิภาคส่วนใหญ่แข็งค่า "เงินบาทยังไม่มีปัจจัยใหม่ ไม่มีการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจระหว่างวัน เงินบาทมีสวิงขึ้น อ่อนค่าในช่วงสั้นๆ บ้าง แต่สุดท้ายก็กลับมาอยู่ในเทรนด์แข็งค่าเหมือนเดิม" นักบริหารเงิน กล่าว นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันพรุ่งนี้ไว้ที่ 32.60 - 32.85 บาท/ดอลลาร์
* ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยนอยู่ที่ระดับ 129.80/83 เยน/ดอลลาร์ จากเมื่อเช้านี้ที่ระดับ 129.10 เยน/ดอลลาร์ - เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0912/0915 ดอลลาร์/ยูโร จากเมื่อเช้านี้ที่ระดับ 1.0896 ดอลลาร์/ยูโร - ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,684.04 จุด เพิ่มขึ้น 6.79 จุด (+0.40%) โดยมีมูลค่าการซื้อขาย 52,483 ล้านบาท - สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติซื้อสุทธิ 558.14 ลบ. (SET+MAI) - นักลงทุนจะติดตามการประเมินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในการประชุมวันที่ 25 ม.ค.เกี่ยวกับทิศทาง เศรษฐกิจซึ่งเผชิญความไม่แน่นอนจากภาวะการค้าโลกแต่ได้แรงหนุนจากภาคท่องเที่ยว รวมถึงสัญญาณเงินเฟ้อในภาคบริการ และ สถานการณ์ค่าเงินบาทซึ่งแข็งค่ามากกว่าสกุลเงินคู่ค้า อย่างไรก็ตาม มองว่า กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายที่เริ่มกลับทิศ อาจช่วยจำกัดการแข็ง ค่าที่ร้อนแรงของเงินบาทได้บ้างในระยะนี้ - SCB CIO ปรับประมาณการค่าเงินบาท ณ สิ้นปี 66 เป็น 33-34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ (จากเดิมประมาณการไว้ที่ 34-35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ) เนื่องจากมองว่า เงินดอลลาร์สหรัฐฯ สะท้อนจาก US Dollar index จะอ่อนค่าลง ตามทิศทางการขึ้น ดอกเบี้ยที่ช้าลงของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ประกอบกับการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย - สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า เงินบาทแข็งค่าขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือนที่ 32.65 บาทต่อดอลลาร์ในวันศุกร์ที่ 20 ม.ค. ก่อนถึงวันตรุษจีนเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จากนั้นเงินบาทแข็งค่าขึ้นอีก โดยแตะที่ 32.60 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงสั้น ๆ ในวันนี้ (23 ม.ค.) เมื่อเทียบกับเดือนต.ค.ซึ่งเงินบาทเคลื่อนไหวที่ 38.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 16 ปี - ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนธ.ค.ในวันนี้ โดยระบุว่า เจ้าหน้าที่ตัวแทนของรัฐบาล ญี่ปุ่นที่เข้าร่วมในการประชุม BOJ เมื่อวันที่ 19-20 เดือนธ.ค.นั้น ได้เรียกร้องให้คณะกรรมการ BOJ เลื่อนการแถลงมติการประชุม หลัง มีสัญญาณว่า BOJ จะปรับนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Yield Curve Control - YCC) ในการประชุมครั้งนี้ - รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่น ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานะการคลังของรัฐบาลญี่ปุ่น หลังจากนักลงทุนในตลาดพันธบัตรพยายาม เรียกร้องให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรเพิ่มขึ้นอีก เพื่อเปิดทางให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ การปรับขึ้นอัตรดอกเบี้ยระยะยาวจะส่งผลให้หนี้สาธารณะของญี่ปุ่นพุ่งขึ้นอีก จากปัจจุบันที่อยู่ในระดับสูงกว่าตัวเลข ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ถึง 2 เท่า ซึ่งจะเพิ่มภาระให้กับรัฐบาลญี่ปุ่น - นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ระบุว่า จะเสนอชื่อผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) คนใหม่ในเดือนหน้า ขณะที่ตลาดกำลังรอดูว่า BOJ จะเปลี่ยนแปลงนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษของผู้ว่าการ BOJ คนปัจจุบันหรือไม่ - รัฐมนตรีคลังสหรัฐ เปิดเผยว่า สหรัฐต้องการเห็นความคืบหน้าของแผนการที่ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) จะเพิ่ม ขีดความสามารถในการปล่อยเงินกู้ให้กับประเทศต่างๆ เพื่อเป็นทุนในการแก้ปัญหาโลกร้อนและวิกฤตการณ์อื่นๆ