โดย วณิชชา สุมานัส
Investing.com - ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พร้อมพิจารณาขยายมาตรการเพิ่มเติมตามสถานการณ์และไฟเขียวให้สถาบันการเงินขยายเวลาช่วยลูกหนี้ ยอมรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ปัจจุบันอาจไม่เพียงพอท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19
นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ล่าสุด เช่น มาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือนอาจไม่เพียงพอที่จะช่วยลูกหนี้ เพราะเป็นเพียงมาตรการเร่งด่วนที่ออกมาช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่สีแดงให้สามารถประคองตัวผ่านช่วงวิกฤตไปได้ในเบื้องต้นเท่านั้น แต่ไม่ได้ตอบโจทย์แก้ไขปัญหาหนี้ในระยะยาว รวมถึงมาตรการพักชำระหนี้ระยะที่ 3 ที่จะครบกำหนดในช่วงสิ้นปี 2564 ด้วย
นางธัญญนิตย์ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ธปท. อาจพิจารณาขยายมาตรการได้อีกตามสถานการณ์ ขณะที่สถาบันการเงินสามารถขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ให้แก่ลูกค้าได้ทันทีแม้จบช่วงมาตรการของ ธปท.ไปแล้ว โดยปัจจุบันพบว่าสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) บางแห่งได้มีการขยายระยะเวลาการพักชำระหนี้แก่ลูกค้านานถึง 6 เดือน
ขณะที่ภาวะหนี้ครัวเรือนไทย ณ ไตรมาส 1 ปี 2564 อยู่ที่ 90.5% ของจีดีพี หรือคิดเป็นมูลหนี้ครัวเรือนประมาณ 14.1 ล้านล้านบาท โดยหนี้ครัวเรือนมีเจ้าหนี้ค่อนข้างหลากหลาย ได้แก่ หนี้ธนาคารพาณิชย์ 43% หนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ 29% หนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ 15% หนี้บริษัทลัสซิ่ง 6% หนี้บริษัทบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 4% และอื่นๆ 3% รวมถึงหนี้ที่อยู่นอกกำกับดูแลของ ธปท.ที่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ หนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หนี้สหกรณ์ครูและสหกรณ์ตำรวจ และหนี้เกษตรกร ฯลฯ
สำหรับภารกิจช่วยเหลือลูกหนี้ในช่วงที่ผ่านมา ข้อมูลล่าสุด ณ เดือน พ.ค.2564 พบว่ามีลูกหนี้ที่ได้รับการช่วยเหลือแล้ว 4.9 ล้านราย (บัญชี) มูลค่า 3.2 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อรายใหญ่ 2,060 ราย มูลค่า 6 แสนล้านบาท สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 5 แสนราย มูลค่า 1 ล้านล้านบาท และสินเชื่อรายย่อย 4.4 ล้านบัญชี มูลค่า 1.6 ล้านล้านบาท
โดยธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐที่ขานรับนโยบายของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยในการออกมาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือน ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา , ธนาคารไทยพาณิชย์ , ธนาคารกรุงเทพ , ธนาคารกสิกรไทย , ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์, ธนาคารออมสิน, ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธ.อ.ส.), และธนาคารทหารไทยธนชาต หรือทีเอ็มบีธนชาต (TTB) ซึ่งรายละเอียดเพิ่มให้ติดต่อธนาคารโดยตรง