โดย Detchana.K
Investing.com - ตลาดหุ้นไทยในระยะนี้ได้รับแรงกดดันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จากสภาพความตึงเครียดจากการชุมนุมทางการเมือง ทำให้การเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยช้ากว่าตลาดหุ้นภูมิภาค ปรับตัวลดลง -3.0% เมื่อเทียบกับตลาดอื่นในเอเชีย ติดตามการประเมินผลกระทบของการชุมนุมต่อตลาดหุ้นไทยจากนักวิเคราะห์ พร้อมประเด็นอื่นๆที่นักลงทุนไทยควรรู้สำหรับวันนี้
1. การเมืองในประเทศมีน้ำหนักกับ SET INDEX มากขึ้นเรื่อยๆ
นักวิเคราะห์จาก บล.หยวนต้าเปิดเผยว่า การเมืองในประเทศมีน้ำหนักกับ SET INDEX มากขึ้นเรื่อยๆ ดังจะเห็นได้จากการเคลื่อนไหว ที่ Underperform ภูมิภาค และมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในเดือน ก.ค. 63 ที่ต่ำสุดนับตั้งแต่ต้นปี ประเมินปัจจัยการเมืองจะเข้มข้นมากขึ้นอีกในเดือน ก.ย. 63 เพราะสภาฯมีการพิจารณางบประมาณรายจ่ายปี 2564 ในวาระ 2,3 และอาจมีการอภิปรายรัฐบาลเป็นการทั่วไป รวมถึงการนำญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าพิจารณา ขณะที่ กลุ่มมผู้ชุมนุมจะมีจัดกิจกรรมครั้งใหญ่ 19 ก.ย. 63
ประเมินผลกระทบต่อ SET INDEX ไว้ 3 กรณีโดยกรณีที่ดีสุดคือ การตอบรับ 3 ข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม และเดินหน้าเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกัน SET INDEX จะ ลดภาวะ Underperform ภูมิภาคไปเคลื่อนไหวในกรอบ 1,350-1,380 จุด แต่ถ้าการชุมนุม ยืดเยื้อเบื้องต้นประเมิน Downside ที่กรอบ 1,250-1,270 จุด
ถ้าพิจารณาการเคลื่อนไหวของ SET INDEX นับตั้งแต่18 ก.ค. 63 พบว่า ปรับตัวลง -3.0% เทียบกับกลุ่ม TIPs ที่ -0.6% และ MSCI Asia ex Japan ที่+3.8% ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในเดือน ส.ค.63 ลดลง -13% MoM เหลือเพียง 5.4 หมื่นล้านบาท ต่ำสุดนับตั้งแต่ต้นปีผ่านมา นักลงทุนสถาบันในประเทศพลิกมาขายสุทธิใน ก.ค. 63 ที่ -4.7 พันล้านบาท ก่อนกลับมาซื้อสุทธิ เล็กน้อย 525 ล้านบาทใน ส.ค. 63 ส่วนนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่13 และ ขายเร่งตัวขึ้นอีก-1.4 หมื่นล้านบาท ผลกระทบจากการเมืองในประเทศต่อการเคลื่อนไหวของ SET INDEX และสภาพคล่องในระยะนี้จึงสัมพันธ์เชิงผกผันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
2. ส่งออกเดือน ก.ค. เริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัว
ส่งออกมีสัญญาณดีขึ้นสวนทางกับการนำเข้าที่ยังแย่ต่อเนื่อง กระทรวงพาณิชย์รายงานส่งออกไทยเดือน ก.ค. -11.39% YoY ดีกว่าตลาดคาดที่ -18.75% YoY หากหักการส่งทองคำจะปรับตัวลดลง -14.2% YoY
โดยภาพรวมการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร -10.9 % YoYส่วนสินค้าอุตสาหกรรม เช่นรถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบลดลง -30.90 % YoY ถือติดลบชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ -43.20 % YoY จากการส่งออก รถปิ๊กอัพ รถบัสและ รถบรรทุกที่ติดลบลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เริ่มเห็นสัญญาณ Bottom out ในกลุ่มยานยนต์ นอกจากนี้การส่งออกตลาดหลักติดลบเกือบทุกตลาด เช่น ญี่ปุ่น ยุโรป และ จีน ลดลง -17.50 % YoY, -16.00 % YoY และ -2.7 % YoY ตามลำดับ
สาเหตุที่ส่งออกไปจีนปรับตัวลดลงเล็กน้อยเนื่องจาก ปัญหาน้ำท่วมในแหล่งการผลิตที่สำคัญอย่างเมืองอู่ฮั่น และการแพร่ระบาดรอบ 2ของ COVID-19 นำเข้าหดตัวแรง การนำเข้าสินค้าไทยลดลงถึง -26.40% YoY แย่กว่าตลาดคาดเล็กน้อยที่ -21.60% YoY ตามการนำเข้าที่ ลดลงของสินค้าทุกประเภท เช่น ยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สินค้าเชื้อเพลิง และสินค้าทุน ซึ่งสะท้อนกำลังซื้อที่ชะลอ และการลงทุนในประเทศที่ยังอยู่ในระดับต่ำเพราะ COVID-19 อย่างไรก็ดี ดุลการค้าเดือน ก.ค. เกินดุลราว 3.34 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ 7เดือนแรกของปี 2563 ดุลการค้า เกินดุลราว 1.40 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
3. สัปดาห์นี้ประเด็นที่น่าติดตามมากที่สุดอยู่ที่ ถ้อยแถลงประธานเฟดคืนวันพฤหัส
แนะนำนักลงทุนจับตาการประชุมประจำปีของ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่เมืองแจ็กสัน โฮลในวันที่ 27-28 ส.ค. โดยการประชุมดังกล่าวจะปรับรูปแบบเป็น การเสวนาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ในหัวข้อ "Navigating the Decade Ahead: Implications for Monetary Policy" ประเด็นที่น่าติดตามอยู่ที่การกล่าวปาฐกถาของประธานเฟด เพื่อแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับนโยบายการเงินของเฟด และแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ
สัปดาห์ก่อนหน้านี้เฟด มีการเปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ(FOMC) ระหว่างวันที่ 28-29 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการเฟดยังมีมุมมองเชิงลบ ต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จากความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังขึ้นอยู่กับพัฒนาการของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนสูง จนนำไปสู่การทบทวนการปรับกรอบการดำเนินนโยบายระยะยาว และเห็นว่าการใช้มาตรการ Yield Curve Target อาจยังไม่เหมาะสมกับภาวะปัจจุบัน โดยนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด มีกำหนดกล่าวสุนทรพจน์ วันที่ 27 ส.ค. เวลา 09.10 น. ตามเวลาสหรัฐฯ หรือ 20.10 น. ตามเวลาไทย