InfoQuest - ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเล็กน้อยในวันจันทร์ (3 ก.ค.) ท่ามกลางวอลุ่มการซื้อขายที่เบาบางเนื่องจากตลาดมีการซื้อขายเพียงครึ่งวัน ก่อนที่จะปิดทำการในวันอังคารที่ 4 ก.ค. เนื่องในวันชาติสหรัฐ
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,418.47 จุด เพิ่มขึ้น 10.87 จุด หรือ +0.03%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,455.59 จุด เพิ่มขึ้น 5.21 จุด หรือ +0.12% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,816.77 จุด เพิ่มขึ้น 28.85 จุด หรือ +0.21%
หุ้น 9 ใน 11 กลุ่มที่คำนวณในดัชนี S&P500 ปิดในแดนบวก นำโดยดัชนีหุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ พุ่งขึ้น 1.07% และ 0.85% ตามลำดับ ขณะที่ดัชนีหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์ และกลุ่มเทคโนโลยี ปรับตัวลง 0.82% และ 0.31% ตามลำดับ
หุ้นเทสลาพุ่งขึ้น 6.9% และเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยหนุนตลาดปิดในแดนบวก หลังบริษัทเปิดเผยยอดการส่งมอบรถยนต์ในไตรมาส 2 จำนวน 466,140 คัน เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส และพุ่งขึ้น 83% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยได้อานิสงส์จากการปรับลดราคาและการลดหย่อนภาษีของรัฐบาลสหรัฐ
ตลาดยังได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของหุ้นธนาคารรายใหญ่ ซึ่งรวมถึงเจพีมอร์แกน, โกลด์แมน แซคส์, ซิตี้กรุ๊ป และมอร์แกน สแตนลีย์ หลังจากธนาคารเหล่านี้ประกาศเพิ่มการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น ภายหลังจากผ่านการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ทั้งนี้ ดัชนีหุ้นกลุ่มธนาคาร (S&P 500 Banks Index) ดีดตัวขึ้น 1.5% ขณะที่หุ้นเจพีมอร์แกน บวก 0.84% หุ้นโกลด์แมน แซคส์ พุ่งขึ้น 1.26% หุ้นซิตี้กรุ๊ป พุ่งขึ้น 1.52% หุ้นมอร์แกน สแตนลีย์ ปรับตัวขึ้น 1.18% หุ้นเวลส์ ฟาร์โก พุ่งขึ้น 1.69%
อย่างไรก็ดี วอลุ่มการซื้อขายอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย เนื่องจากตลาดมีการซื้อขายเพียงครึ่งวันในวันจันทร์ที่ 3 ก.ค. ก่อนที่จะปิดทำการในวันอังคารที่ 4 ก.ค. เนื่องในวันชาติสหรัฐ
ส่วนในครึ่งปีแรกนั้น ตลาดหุ้นนิวยอร์กปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง โดยดัชนีดาวโจนส์ดีดตัวขึ้น 3.8% ขณะที่ดัชนี S&P 500 พุ่งขึ้น 15.9% ทำสถิติปรับตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกดีที่สุดนับตั้งแต่ปี 2562 ส่วนดัชนี Nasdaq ทะยานขึ้น 31.7% ทำสถิติปรับตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกดีที่สุดนับตั้งแต่ปี 2526
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเพิ่มขึ้น 0.9% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้นเพียง 0.6% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนเม.ย.
ทางด้านสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 46.0 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2563 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 47.0 จากระดับ 46.9 ในเดือนพ.ค. โดยดัชนียังคงปรับตัวต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะหดตัวของภาคการผลิตสหรัฐ และเป็นการหดตัวติดต่อกันเดือนที่ 8
นักลงทุนจับตารายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประจำวันที่ 13-14 มิ.ย.ซึ่งจะมีการเปิดเผยในวันพุธ รวมทั้งการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันศุกร์นี้